"บุญรักษ์" เผยผลสำรวจความคิดเห็นจัดตั้งสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาหรือสพม. พบ 99.15 % เห็นด้วยให้เพิ่มสพม. ชี้เพื่อความคล่องตัวในการบริหารงาน
วันนี้(19 ก.พ.)ดร.บุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.)เปิดเผยว่า จากการสำรวจความคิดเห็นการจัดตั้งสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา(สพม.)เพิ่มเติม โดยมีผู้ตอบแบบสอบถาม จำนวน 117 คน จาก 42สพม. พบว่ามีเพียง 1 คนที่ไม่เห็นด้วย คิดเป็นร้อยละ 0.85 เพราะจะทำให้มี ผอ.เขตพื้นที่การศึกษาเพิ่มขึ้น ขณะที่ส่วนใหญ่ร้อยละ 99.15 เห็นด้วยกับการเพิ่ม สพม. เพื่อความคล่องตัวในการบริหารงาน เนื่องจากปัจจุบัน สพม.ส่วนใหญ่มีพื้นที่บริการ 2 จังหวัดขึ้นไป ต้องจัดการข้ามเขตปกครองจังหวัด ทำให้เกิดความยุ่งยากในระบบริหารจัดการ และการที่เขตพื้นที่ฯมีขนาดใหญ่ มีปริมาณประชากรมาก ต้องดูแลสถานศึกษามาก จำนวนครูและนักเรียนก็มีมาก ทำให้ดูแลไม่ทั่วถึง ขณะที่บางเขตพื้นที่ก็ไม่มีความปลอดภัยในการเดินทางระหว่างจังหวัด โดยเฉพาะเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ นอกจากนี้ยังสอดรับกับนโยบายและยุทธศาสตร์ของกระทรวงศึกษาธิการในการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาค และสอดคล้องกับการเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ตามมติคณะรัฐมนตรี(ครม.)ที่มีความจำเป็นเร่งด่วนในการยกระดับคุณภาพของคนให้รองรับยุทธศาสตร์ชาติทางด้านเศรษฐกิจอีกด้วย
เลขาธิการ กพฐ.กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ในการสำรวจความเห็นยังมีข้อเสนอแนะอื่น ๆ ด้วย ได้แก่ 1.ควรดำเนินการให้เร็วที่สุด 2.เมื่อแยกครบทุกจังหวัด อัตรากำลังให้เป็นไปตามขนาดปริมาณ โรงเรียน เช่น จังหวัดภูเก็ตมี 5 โรงเรียน อัตรา 20 ไล่ไปตามปริมาณ 3. ควรแยกศึกษานิเทศก์ออกจากเขตพื้นที่ด้วย 4. ควรพิจารณาแยกให้เป็นเหมือนสมัยที่เป็นกรมสามัญศึกษาเดิม 5.ปกติโรงเรียนมัธยมศึกษา มีความเข้มแข็งในตัวอยู่แล้วหากตั้ง สพม.ควรคำนึงถึงการสนับสนุนมากกว่าการบริหารจัดการ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้โรงเรียนสามารถบริหารจัดการตนเองให้มาก และไม่ควรมีอัตรากำลังในสำนักงานมากเกินไป เป็นต้น
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก เดลินิวส์ วันจันทร์ที่ 19 กุมภาพันธ์ 2561