ปรับหลักสูตรอิงพื้นที่-เลิกโอเน็ตงบฯรายหัว เพิ่มโอกาสและคุณภาพ นร.
ศ.นพ.จรัส สุวรรณเวลา ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) เปิดเผยภายหลังการประชุม กอปศ.ว่า ที่ประชุมได้หารือถึงรูปแบบการพัฒนาโรงเรียนในกำกับของรัฐ ซึ่งจากการลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นพบว่า เสียงส่วนใหญ่สนับสนุนให้ดำเนินการโรงเรียนในกำกับของรัฐที่มีอิสระในการบริหาร โดยปรับระบบการจัดการศึกษาในปัจจุบันที่ไม่สร้างคุณภาพและเป็นสาเหตุของปัญหา ซึ่งมองว่าการพัฒนาคุณภาพการศึกษาไม่ควรจะทำในรูปแบบเดียวแต่มีความหลากหลาย เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาอย่างเป็นรูปธรรม ดังนั้น ที่ประชุมเห็นว่าควรจะบุกเบิกเรื่องนี้อย่างจริงจัง โดยนำร่องในโรงเรียนที่ไม่มีความพร้อม มีปัญหาในเรื่องคุณภาพการศึกษาและอยู่ในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มโรงเรียน 5 แห่ง ที่ตั้งอยู่บนดอยอ่างขาง อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ โดยจะสนับสนุนให้มีความเป็นอิสระทางวิชาการ งบประมาณ และงานบุคคล เพื่อเป้าหมายคือการเพิ่มโอกาสและคุณภาพของผู้เรียนเป็นหลัก
ด้านนางเรียม สิงห์ทร ครูโรงเรียนบ้านขอบด้ง (ดอยอ่างขาง) จ.เชียงใหม่ ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี กล่าวว่า ได้เสนอกรอบการพัฒนา “อ่างขาง” โมเดล ประกอบด้วย การบริหารงานวิชาการโดยปรับปรุงหลักสูตรให้สอดคล้องกับพื้นที่ เช่น สร้างหลักสูตรโดยทีมวิชาการบนพื้นที่สูง มีการทำวิจัย กำหนดกรอบเนื้อหาหลักสูตรท้องถิ่นของแต่ละโรงเรียน กำหนดเกณฑ์วัดและประเมินผล เน้นเนื้อหาการอ่านออกเขียนภาษาไทยได้ เน้นการพัฒนาอาชีพ และยกเลิกการทดสอบระดับชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) การบริหารงานบุคคล ให้ผู้บริหารสามารถเลือกครูให้สอดคล้องกับความต้องการของโรงเรียน รวมถึงสนับสนุนเจ้าหน้าที่ธุรการ การบริหารงบประมาณ ซึ่งจะมีการยกเลิกค่าใช้จ่ายแบบรายหัวแต่จะเป็นการจัดสรรงบประมาณตามความยากลำบากในแต่ละพื้นที่ซึ่งจะมีกลไกในการคัดกรองอย่างทั่วถึง เพื่อลดความเหลื่อมล้ำระหว่างเด็กชุมชนเมืองและชายขอบ ส่วนการบริหารงานทั่วไปจะลดภาระงานที่ซ้ำซ้อนนอกเหนือจากงานสอน
ด้าน ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) กล่าวว่า สำหรับการนำร่องในโรงเรียนพื้นที่ดอยอ่างขางนั้น จะเป็นความร่วมมือระหว่าง กอปศ. สกศ. และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โดยดำเนินการภายใต้กฎระเบียบที่มีอยู่ ทั้งนี้ โรงเรียนในกำกับของรัฐจะไม่ยึดรูปแบบเดียวทั้งประเทศ และอ่างขางโมเดลเป็นรูปแบบหนึ่งที่รวมกลุ่มโรงเรียนขนาดเล็กเป็นเครือข่าย.
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก ไทยรัฐ วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2561