คณะอนุกรรมการกำหนดสาขาให้กู้กรอ. เตรียมพิจารณาเพิ่มสาขาให้กู้และลดสาขาไม่จำเป็น ปี62-63 เล็งเสนอบอร์ดกยศ.ทบทวนคุณสมบัติผู้กู้
วันนี้( 15 ก.พ.)ดร.สุภัทร จำปาทอง เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา(กกอ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆนี้ ตนในฐานะประธานคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณากำหนดสาขาวิชาที่เป็นความต้องการหลักซึ่งมีความชัดเจนของการผลิตกำลังคนและมีความจำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ สาขาวิชาขาดแคลนหรือสาขาวิชาที่กองทุนมุ่งส่งเสริมเป็นพิเศษ ได้มีการประชุมคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณากำหนดสาขาวิชาที่เป็นความต้องการหลักฯ เพื่อพิจารณากำหนดสาขาวิชาที่เป็นความต้องการหลักในการให้กู้ยืมเงินจากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา(กยศ.) ในส่วนของกองเงินกู้ยืมที่ผูกกับรายได้ในอนาคต(กรอ.)ของ ปีการศึกษา 2562 และ 2563 ซึ่งที่ประชุมประชุมได้มอบหมายให้กรรมการฯไปช่วยการพิจารณาดูว่า 3,000 กว่าสาขาวิชาที่ให้กู้กรอ.อยู่ในขณะนี้มีสาขาวิชาอะไรบ้างที่ไม่จำเป็นแล้ว หรือสาขาวิชาไหนที่มีความจำเป็นในอนาคต ซึ่งต้องหารือกับสํานักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รวมถึงต้องมาดูสาขาวิชาที่ตรงกับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศด้วย
ดร.สุภัทร กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้หารือในส่วนของสาขาวิชาที่จะขอกู้กรอ.ปีการศึกษา 2561 เพิ่มเติม จากที่กยศ.ได้มีการประกาศรายชื่อสาขาวิชาที่ให้กู้กรอ. ปีการศึกษา2561ไปเรียบร้อยแล้ว โดยใช้ฐานข้อมูลเดิมของปี 2560 ซึ่งมีประมาณ 3,000 กว่าสาขาวิชา ดังนั้นที่ประชุมจะเปิดให้มหาวิทยาลัยต่าง ๆได้เสนอรายชื่อสาขาวิชาต่าง ๆที่เห็นว่าเป็นสาขาวิชาขาดแคลน จำเป็น และเป็นความต้องการในการพัฒนาประเทศ แต่ยังไม่มีรายชื่ออยู่ในที่กยศ.ประกาศไปแล้ว เข้ามาเพื่อให้คณะอนุกรรมการฯได้พิจารณาว่าสาขาวิชานั้นจำเป็นและตรงกับความต้องการในการพัฒนาประเทศหรือไม่ ซึ่งขณะนี้ยังพอมีเวลาในการพิจารณา แต่ก็ต้องรีบเพื่อจะได้ประกาศให้นิสิตนักศึกษาได้รับทราบต่อไป
“หน้าที่ของคณะอนุกรรมการชุดนี้ คือการให้ข้อเสนอแนะต่อบอร์ดกยศ. ในเรื่องต่าง ๆ ซึ่งเบื้องต้นที่ประชุมจะเสนอทบทวนเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้กู้ กยศ. เนื่องจากได้มีการประกาศใช้มาหลาย 10 ปีแล้ว โดยเฉพาะเรื่องของรายได้ครอบครัวของผู้กู้รวมกันไม่เกิน 200,000 บาทต่อปี ขณะที่โลกเปลี่ยนแปลงไปจึง จำเป็นที่จะต้องกำหนดคุณสมบัติใหม่ เช่น รายได้ครอบครัวอาจจะเป็นไม่เกิน 3 00,000 บาทต่อปี หรือค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพ ที่กำหนดให้กู้ได้เดือนละ 2,200 บาท ซึ่งอาจจะน้อยเกินไปแล้ว ส่วนจะเพิ่มเท่าไหร่ต้องมาช่วยกันดู รวมถึงจะเสนอให้มีการกำหนดคำนิยามในประกาศกยศ.เรื่องคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของนักเรียนหรือนักศึกษาที่ศึกษาในสาขาวิชาที่เป็นความต้องการหลักซึ่งมีความชัดเจนของการผลิตกำลังคนและมีความจำเป็นต่อการพัฒนาประเทศซึ่งจะขอกู้ยืมเงินกยศ. ปี 2560 ใหม่ ในส่วนที่มีการระบุว่าผู้กู้ต้องไม่เป็นผู้ปฎิบัติงานและรับเงินเดือนหรือค่าจ้างประจำในหน่วยงานของรัฐหรือเอกชนในลักษณะเต็มเวลานั้น ขณะนี้พบว่ามีนักศึกษาบ้างคนก็ไปทำงานระหว่างเรียน เช่น ในเซเว่น-อีเลฟเว่น จะถือว่าทำงานเต็มเวลาหรือไม่ เป็นต้น “ ดร.สุภัทร กล่าว
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก เดลินิวส์ วันพฤหัสบดีที่ 15 กุมภาพันธ์ 2561