12 ก.พ. 61 -"เลขาสกศ."เผยเตรียมนำเกณฑ์การประเมินคุณภาพการศึกษาเข้าครม .ยันจะเปลี่ยนแบบพลิกโฉม ทำมาตรฐานประเมิน 3ระดับ ระดับชาติ ระดับศธ.และมาตรฐานของสถานศึกษาเอง หวังสะท้อนภาพแท้จริง สอดคล้องรมว.ศธ.มองไม่ควรเป็ฯการวัดผลสำเร็จแบบโรงงาน ดูคะแนนโอเน็ตเป็นตัวตั้ง แต่วัดจากเรื่องง่ายๆใกล้ตัวเด็ก
นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการสภาการศึกษา (เลขาฯ สกศ.) กล่าวว่า ในการประชุมเชิงปฏิบัติการ เพื่อเตรียมการรองรับการดำเนินงานตามร่างกฎกระทรวงการประกันคุณภาพการศึกษา ฉบับใหม่ เมื่อเร็วๆ นี้ น.พ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ได้มอบนโยบายว่าหลักสำคัญในการทำงานประเมินคุณภาพการศึกษา คือ การทำให้มั่นใจว่าสถานศึกษาจัดการศึกษาให้อย่างมีคุณภาพ ทั้งนี้ การพิจารณาคุณภาพการศึกษาจากผลลัพธ์ปลายทาง เช่น ผลการทดสอบการศึกษาขั้นพื้นฐานระดับชาติ หรือ โอเน็ต แล้วตัดสินว่าโรงเรียนไม่มีคุณภาพ เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง การศึกษาไม่สามารถคิดแบบโรงงานผลิตสิ่งของได้ เพราะบริบทนักเรียนแต่ละโรงเรียนต่างกัน เป็นต้น ทั้งนี้การประกันคุณภาพการศึกษาควรพิจารณาจากสิ่งที่ง่ายๆ เช่น เด็กมีความสุขในการเรียนหรือไม่ ครูเป็นอย่างไร มีครูครบวิชาหรือไม่ เด็กติดยาเสพติดหรือไม่ หนีเรียนหรือไม่ ครูมีเทคนิคใหม่หรือไม่ มีอินเทอร์เน็ตไฮสปีดหรือไม่ เป็นต้น ดังนั้น ขณะนี้จึงมีการปรับกฎกระทรวงศึกษาธิการเกี่ยวกับการประกันคุณภาพการศึกษา ให้สั้นลงและปฏิบัติได้จริงมากขึ้น อีกทั้งจะมีการทำมาตรฐานร่วมกันว่าความคาดหวังของโรงเรียนแต่ละระดับ แต่ละประเภทมีความคาดหวังอย่างไร ขั้นต่ำควรเป็นอย่างไรจึงเรียกว่ามีคุณภาพในบริบทโรงเรียนประเภทนั้นๆ ให้โรงเรียนประเมินตนเอง ไม่มีการประกันคุณภาพภายในโดยต้นสังกัดอีกต่อไป หน่วยงานต้นสังกัดจะมีบทบาทในการกำกับดูแลและส่งเสริมเป็นหลัก
เลขาสกศ.กล่าวอีกว่าถ้าหากร่างกฎกระทรวงและมาตรฐานการศึกษาของชาติที่ ศธ.เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไป ผ่านการพิจารณาจาก ครม.แล้ว ระบบประกันคุณภาพทั้งภายในและภายนอกจะเปลี่ยนแปลงแบบพลิกโฉม โดยการพิจารณาจะประเมินตามสภาพจริง สถานศึกษาจะมีสิทธิกำหนดมาตรฐานที่เหมาะสมได้โดยเลือกจากกรอบของมาตรฐานของ ศธ. ซึ่งมีผู้แทนจากทุกหน่วยงานทุกระดับทุกประเภทมาร่วมกันจัดทำมาตรฐานแต่ละระดับ ซึ่งจะมี 3 ระดับ คือ มาตรฐานการศึกษาของชาติ มาตรฐานกระทรวง และ มาตรฐานสถานศึกษา ซึ่งในส่วนของมาตรฐานการศึกษาของชาติ ได้รับความเห็นชอบจากสกศ. แล้ว กำลังเสนอ ครม.พิจารณา จากนั้นจะมีผลบังคับใช้ทันที
ส่วนมาตรฐานระดับกระทรวง จะแบ่งเป็น 3 ประเภท คือ 1.การศึกษาขั้นพื้นฐาน 2.อาชีวศึกษา และ 3.อุดมศึกษา และ 3.มาตรฐานสถานศึกษา ที่สถานศึกษามีโอกาสจะกำหนดหรือเลือกมาตรฐานสถานศึกษาให้สอดคล้องกับบริบทของตนเอง โดยอาจพิจารณาจากนโยบายของแต่ละสังกัดด้วย
"หัวใจสำคัญในการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ คือ เน้นการทำงานเชิงคุณภาพ ข้อมูลที่นำมาตรวจสอบเน้นคุณภาพไม่เน้นเชิงปริมาณ ทั้งนี้ ขณะนี้คณะทำงานร่วมของทุกสังกัด ร่วมทั้ง สมศ. กำลังร่วมกันจัดทำแนวปฏิบัติสำหรับหน่วยงานทุกระดับในการดำเนินการประกันคุณภาพการศึกษาตาม ร่างกฎกระทรวงใหม่" เลขาฯ สกศ.กล่าว
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก ไทยโพสต์ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561