มส.แนะครู4.0เป็นต้นแบบความดีให้กับเด็ก เหตุเทคโนโลยีสอนวิชาคุณธรรม จริยธรรมไม่ได้ต้องผ่านการฝึกเท่านั้น แนะใช้โยนิโสมนสิการบริโภคข่าวสาร
วันที่ 9 ก.พ.2561 ที่ผ่านมา ที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา พระพรหมบัณฑิต,ศ.ดร. กรรมการมหาเถรสมาคม มจร ได้ปาฐกถาเรื่อง "ครูกับการพัฒนาคุณธรรมให้กับเด็กยุคดิจิตอล" ในพิธีปัจฉิมนิเทศประกาศนียบัตรวิชาชีพครู คณะครุศาสตร์ มจร ความตอนหนึ่งว่า
การพัฒนาคุณธรรมมิใช่แค่ถ่ายทอดความรู้ หรือบอกกล่าว ในยุคดิจิตอลเด็กจะต้องมีการสืบค้นคว้า เด็กอยู่กับเครื่องจักรเป็น " ยุคแห่งการไม่สนใจเพื่อนมนุษย์ "นั่งใกล้กันไม่คุยกันแต่สนใจโทรศัพท์มือถือ ทำให้เราห่างเหินกัน สิ่งเหล่านี้สอนให้เราเก่งได้ แต่สอนให้เป็นคนดีไม่ได้ เพราะเครื่องจักรไม่มีหัวใจไม่เป็นต้นแบบ ข้อมูลมีแต่เรื่องร้ายๆ ถ้าเราปล่อยให้เด็กอยู่กับเรื่องร้ายๆ จะเกิดอะไรขึ้น "คนที่เรียนผ่านดิจิตอลจิตใจขาดความอ่อนโยน" ในยุคดิจิตอลสอนได้ทุกวิชายกเว้นวิชาคุณธรรมจริยธรรม ถ้าสอนได้เป็นคนดีหมดเเล้ว เพราะการจะเป็นคนดีมีคุณธรรมจริยธรรมจะต้องถ่ายแบบถ่ายทอดมีต้นแบบที่ดี เลียนแบบในการทำความดีมันยาก แต่เลียนในการทำความชั่วมากง่าย เพราะมันตามกิเลส แต่เลียนแบบทำความดีมันทวนกระแสตามกิเลส ทำความดีจึงทวนกระแส
"แม้แต่อเมริกาหลงทางในการพัฒนาความเก่งมากกว่าความดี ในการฝึกหัดครูเน้นการสอนให้เก่ง ทำให้เด็กในยุคปัจจุบันขาดจิตอาสา ไม่สนใจทำกิจกรรมเพื่อสังคม สังคมต่างประเทศตัวใครตัวมัน จึงหันกลับมาเรื่องความดี ท่านพุทธทาสวิจารณ์การศึกษาแรงคือ "การไปตามตะวันตกคือการศึกษาหมาหางด้วน" ซึ่งการศึกษาสร้างมนุษย์ที่สมบูรณ์นั้นเหมือนอันธจักขุ คือคนตาบอดทางโลกก็ไม่เก่งทางธรรมก็ไม่เก่ง เอกจักขุ คือ คนตาเดียว เก่งทางโลก แต่ขาดคุณธรรมจริยธรรม และทวิจักขุ คือคนสองตา มีความรู้ประกอบวิชาชีพมีธรรมะกำกับ จะต้องมีคุณธรรมจริยธรรมกำกับ" อธิการบดี มจร กล่าวและว่า
ปัจจุบันเวลาจะทำร้ายกันเอาภาพไปขึ้นสื่อออนไลน์เอาไปประจานกัน ทำร้ายกัน เป็นการเบียดเบียนกัน ดังนั้นครูจะมีคุณธรรมอะไรสอนเด็กในยุคดิจิตอล แม้แต่ผู้ใหญ่ก็เป็นด้วย เรากำลังทำร้ายคนอื่นไม่รู้ตัว ปัจจุบันเราล่าแม่มดด้วยการขึ้นสื่ออนไลน์แล้วรุมด่าวิจารณ์กัน แม้แต่วงการศาสนา เราล่าแม่มดให้คนเกลียดชังรวมถึงครอบครัวของคนอื่น คุณธรรมจริยธรรมในยุคดิจิตอลเราจะสอนอะไร ซึ่งมีตัวแรงคือเทคโนโลยีทำร้ายกัน
ยุคดิจิตอลเป็นยุค "ความรวดเร็ว" ในการแพร่กระจายข่าวสาร "ไม่มีขอบเขตจำกัด" ทั้งกาลและเทศะสถานที่ สามารถเชื่อมโยงถึงกันทั้งหมด เชื่อมโยงเป็นเครือข่าย ด้วยการแพร่กระจายเร็ว พอเข้าไปในออนไลน์มีการแพร่ขยายรวดเร็ว ถ้าเป็นข่าวสารทางบวกจะดีขนาดไหน แต่ถ้าเป็นข้อมูลข่าวสารเป็นเชิงลบมีผลต่อจิตใจของเด็ก ในยุคนี้เราจะสอนเด็กอย่างไรให้เลือกบริโภคข่าวสาร
กระบวนการให้การศึกษาต้องนำปัญญาวุฑฒิธรรม คือ
1. สัปปุริสังเสวะ การคบคนดี ครูจะต้องสอนให้เด็กรู้จักเลือกใช้สื่อ รู้จักเลือก เพราะปัจจุบันการบล็อคการห้ามเข้าถึงไม่สามารถทำได้ แต่เราควรจะสอนว่าควรบริโภคข่าวสารอย่างไร เราจะทำอย่างไรกับข้อมูลขยะ เว็บไซต์มหาจุฬาฯมีคนเข้าไปกี่เปอร์เซ็น เข้าไปเจออธิการบดีหรือไม่ ถ้าเราไม่เลือกใช้สื่อก็จะมีแต่กระตุ้นความโลภ ความโกรธ ความหลง
2.สัทธัมมัสสวนะ ได้แก่การฟังคำสอนด้วยการเข้าถึง ครูต้องให้การศึกษาในการเลือกสร้างภูมิคุ้มกัน โดยสอนให้คนมีคนใฝ่รู้ใฝ่คิด
3.โยนิโสมนสิการ คือคิดถูกวิธีเป็นการกรองข้อมูลข่าวสาร บริโภคสื่อขาดการย่อย ความจริงข่าวดีและข่าวไม่ดีเป็นอุปกรณ์สอนคุณธรรมจริยธรรม แต่สำคัญเราต้องมี TG ครูเป็นผู้วิเคราะห์แนะนำว่าดีไม่ดีอย่างไร เราต้องไม่สอนแต่วิชาการแต่เราต้องสอนว่าเรื่องนี้ให้บทเรียนอะไร ครูจะต้องรู้เท่าทัน ซึ่งการศึกษาต้องทำหน้าที่ให้ฉลาดกว่า เพราะครูมี 3 ประเภท คือ "ศิษย์ที่ดีกว่าครู ศิษย์ที่ดีเท่าครู และศิษย์ที่เลวกว่าครู" ครูต้องสอนให้รู้จักรับข้อมูลข่าวสารแบบรู้จักคิด บทบาทครูจะต้อง "สอนให้รู้ ทำให้ดู อยู่ให้เห็น เย็นให้สัมผัส" โยนิโสมนสิการจึงเป็นการ "สอนวิธีคิด คิดเป็นระเบียบ คิดมีเหตุผล คิดเร้ากุศล" และ
4.ธัมมานุธัมมปฏิบัติ คือ ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม จะต้องฝึกปฏิบัติอย่างเช่นการเรียนภาษาต้องฝึกปฏิบัติ
ดังนั้น ครูจะต้องต้นแบบที่ดีเป็นแม่แบบที้ดีมีสื่อดี ครูสร้างกระตุ้นการใฝ่รู้ให้ศิษย์อยากรู้อยากอ่าน ครูสอนวิธีคัดกรองในการบริโภคสื่อถึงจะเป็นข่าวร้ายก็ต้องสอนให้วิเคราะห์ มาเรียนมหาจุฬาต้องทราบว่าโยนิโสมนสิการคืออะไร "เด็กในยุคดิจิตอลต้องติดภูมิคุ้มกันคือโยนิโสมนสิการ" มีการคิดเองไตร่ตรองเอง เด็กในยุโรปอเมริกาจะถูกกระตุ้นให้คิด เด็กไทยที่ไปเรียนอเมริกามีความทุกข์ในการปรับตัว เพราะเราอยู่เมืองไทยเราถูกสอนให้นั่งนิ่งๆ อย่าพูดมาก แต่พอไปอยู่อเมริกาครูจะกระตุ้นให้ตอบให้ถาม คนไหนถามเก่งพูดเก่งถูกยกย่องเพราะเป็นการสอนการคิดถูกกระตุ้น ในอเมริกาใครแสดงความคิดเห็นยกย่องว่าดีมาก แต่บ้านเราถ้าเด็กถามมากพูดมากมองว่าเป็นเด็กมีปัญหา แต่มหาจุฬาฯมีเสรีภาพในการวิจารณ์
"ครูนอกจากจะมีความรู้ทางเทคโนโลยีแล้ว จะต้องสอนเชิงรุกคือ การศึกษาข้อมูลข่าวสาร ส่วนเชิงรับ คือ การกลั่นกรองข้อมูลข่าวสาร เลือกบริโภคภาษาพระเรียกว่า อินทรีย์สังวร เลือกเรื่องที่ควรอ่านควรฟัง เราต้องนึกถึงลิง 3 ตัว ปิดหูซ้ายขวา ปิดตาสองข้าง ปิดเสียบ้างนั่งนอนสบาย เป็นการใช้ชีวิตในยุคดิจิตอล" พระพรหมบัณฑิต กล่าวและว่า
จริยธรรมในยุคดิจิตอลจะต้องใช้ชีวิตให้สมดุล ชีวิตเรามีหลายมิติ เราต้องฟังให้รอบด้าน "ความปลอดภัย" ด้านเทคโนโลยี "การรังแกทำร้ายกัน" การนำข้อมูลเป็นเท็จรังแกหรือทำร้ายคนอื่น ในต่างประเทศมี "วันหยุดการรังแกทางอีเลกโทนิก Stop Cyberbullying Day." เวลาวัยรุ่นถูกรังแกมาจากเฟชบุ๊กอันดับที่ 1 เด็กแคนนาดาคนหนึ่งถูกทำร้ายด้วยการประจานลงในสื่อแล้วผูกคอตาย เราต้องสอนให้คิด เมื่อเราถูกรังแกอย่าไปตอบโต้ เก็บหลักฐานไว้ให้หมด พูดให้ผู้ใหญ่ฟังที่ไว้ใจได้ บล็อคสื่อ ฝึกการสุภาพให้กับคนอื่น อย่าไปรังแกคนอื่น อย่าเป็นเพียงคนดู ควรช่วยปกป้องคนที่ถูกรังแก เป็นเรื่องราวที่เกิดต่างประเทศ
ดังนั้นจิตวิญญาณของความเป็นครูคือการห่วงใยลูกศิษย์ คุณธรรมจริยธรรมของครูคือความห่วงใยศิษย์ ถ้าเราไม่ห่วงใยศิษย์เราจะทำอย่างไรก็ได้ เราจะต้องสอนให้ศิษย์คิดเป็น ขอให้ทุกท่านเป็นครูที่ดีของชาติต่อไป
...............
(หมายเหตุ : ขอบคุณข้อมูลจาก Pramote OD Pantapat พระอาจารย์ปราโมทย์ วาทโกวิโท นิสิตปริญญาเอก สาขาสันติศึกษา มจร)
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก หนังสือพิมพ์บ้านเมือง วันเสาร์ ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561