ดีป้า ผนึกกำลังเครือข่ายร่วมผลักดัน DQ report 2018 วัดทักษะความฉลาดทางดิจิทัลเด็กไทย พบเสี่ยงภัยออนไลน์ พร้อมเดินหน้าใช้ประโยชน์จากข้อเท็จจริง ไม่อยากให้มองว่าเป็นปัญหา แต่เป็นโอกาสที่สามารถพัฒนาสร้างพลเมืองดิจิทัลที่มีคุณภาพให้ดียิ่งขึ้น
วันนี้ (7 ก.พ.) ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ดีป้า กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่า ดีป้ากับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ และ DQ institute หน่วยงานที่เกิดจากความร่วมมือกันของภาครัฐและเอกชนทั่วโลก ร่วมกับ เวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรั่ม อยากให้เด็กๆ ทุกประเทศได้รับการศึกษาด้านทักษะพลเมืองด้านดิจิทัลที่มีคุณภาพและใช้ชีวิตบนโลกออนไลน์อย่างปลอดภัย จึงร่วมกันจัดทำรายงานการศึกษา The 2017 DQ Impact Study เริ่มต้นในเดือน พ.ค.– ธ.ค.60 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ #DQEveryChild โดยทำการศึกษาเด็กไทยอายุ 8-12 ปี ทั่วประเทศ 1,300 คน ผ่านแบบสำรวจออนไลน์ DQ Screen Time Test ชุดเดียวกันกับเด็กประเทศอื่นๆ รวมกลุ่มตัวอย่างทั่วโลกทั้งสิ้น 37,967 คน
ทั้งนี้ จากรายงานการศึกษามีข้อสังเกตที่น่าสนใจพบว่า เด็กไทยมีความเสี่ยงจากภัยออนไลน์ถึง 60% ในขณะที่ค่าเฉลี่ยของการศึกษาครั้งนี้อยู่ที่ 56% (จาก 29 ประเทศทั่วโลก) เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านพบว่า ประเทศฟิลิปปินส์อยู่ที่ 73% อินโดเนียเซียอยู่ที่ 71% เวียดนามอยู่ที่ 68% สิงคโปร์ 54% มาเลียเซีย 57% ภัยออนไลน์ที่เจอจากการศึกษาชุดนี้ประกอบไปด้วย การกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ หรือ Cyber bullying , ถูกล่อลวงออกไปพบคนแปลกหน้าจากสื่อสังคมออนไลน์ , ปัญหาการเล่นเกม เด็กติดเกม,ปัญหาการเข้าถึงสื่อลามกอนาจาร , ดาวน์โหลดภาพหรือวิดีโอที่ยั่วยุอารมณ์เพศ และพูดคุยเรื่องเพศกับคนแปลกหน้าในโลกออนไลน์
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันนี้เด็กไทยเสพและใช้ข้อมูลดิจิทัลแตกต่างจากผู้ใหญ่ ปัจจัยหลายอย่างทำให้ยากที่ผู้ใหญ่ตลอดจนครูจะเข้าใจความเสี่ยงและภัยคุกคามที่เด็กเผชิญอยู่ จึงเกิดเป็นช่องว่างทำให้ผู้ใหญ่ไม่สามารถให้คำแนะนำในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างมีความรับผิดชอบและถูกวิธีได้ ดีป้าตระหนักถึงการพัฒนาดิจิทัลในมิติด้านสังคม โดยเฉพาะการเสริมสร้างและยกระดับทักษะชีวิตในโลกยุคดิจิทัล หรือ ความฉลาดทางดิจิทัลให้กับเด็กและเยาวชน เพราะทักษะเหล่านี้เป็นรากฐานในการปลูกฝังความคิดและทัศนคติต่อไป ซึ่งรายงานชิ้นนี้ ทำให้ประเทศไทยเห็นมิติที่รอบด้านของเด็กไทยชัดเจนขึ้น ทั้งนี้ ข้อมูลจากการศึกษาจะถูกนำไปใช้ในการกำหนดยุทธศาสตร์พัฒนาทักษะดิจิทัลของเด็กไทย เพื่อยกระดับให้เด็กมีความพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจ สร้างความมั่นคงและเติมเต็มศักยภาพการเรียนรู้ทางด้านดิจิทัล เช่น สามารถเข้าใจหรือเลือกทำในสิ่งที่ไม่ก่อให้เกิดผลเชิงลบต่อตนเองในโลกออนไลน์
“จากสถานการณ์ของเด็กไทยที่สำคัญในรายงาน DQ report 2018 ในปีนี้ ดีป้าพร้อมเดินหน้าส่งเสริมการสร้างความฉลาดทางดิจิทัล ( Digital intelligence Quotient : DQ) โดยจะร่วมมือกับ สพฐ และ DQ institute เสริมทักษะ DQ ของเด็กไทย และพัฒนาทัศนคติตลอดจนพฤติกรรมของพวกเขาไม่ให้มีความเสี่ยงในโลกไซเบอร์ ภายใต้แคมเปญ #DQEveryChild ซึ่งมีเป้าหมายจะพัฒนาทักษะ DQ ของเด็กอายุระหว่าง 8-12 ปี จำนวน 20 ล้านคนภายในปี 2563 และเมื่อสิ้นสุดแคมเปญ จะมีการวัด DQ score ของแต่ละประเทศที่เข้าร่วมโครงการ ตลอดจนรายงานผลดังกล่าวในการประชุมเวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรั่มต่อไป”
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก เดลินิวส์ วันพุธที่ 7 กุมภาพันธ์ 2561