บอร์ด กอปศ.ถกผลวิจับโรงเรียนนิติบุคคล เปลี่ยนชื่อคำนิยามใหม่เป็น “โรงเรียนในกำกับของรัฐ” ให้มีอิสระในการบริหารจัดการทั้งงบประมาณ วิชาการ งานบุคคล ชี้ ไม่ต้องกังวลค่าเรียนจะแพง ต้องมีมาตรการควบคุม เพราะการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นหน้าที่รัฐบริการให้ประชาชน
วันนี้ (6 ก.พ.) ศ.นพ.จรัส สุวรรณเวลา ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อปฎิรูปการศึกษา (กอปศ.) เปิดเผยภายหลังการประชุม กอปศ.ว่า ดร.สมหวัง พิธิยานุวัฒน์ ได้เสนอรายงานการวิจัยโรงเรียนนิติบุคคล โดย ดร.สมหวัง ในฐานะราชบัณฑิต ได้วิเคราะห์การใช้คำนิยามโรงเรียนนิติบุคล ใหม่ ให้เป็นโรงเรียนในกำกับของรัฐ ตามที่ราชบัณฑิตกำหนดไว้ ซึ่งที่ประชุมจึงได้เห็นชอบตามที่ ดร.สมหวังเสนอให้เปลี่ยนคำนิยามชื่อโรงเรียนนิติบุคคลใหม่ นอกจากนี้ยังได้มีข้อคิดเห็นสำคัญด้วยว่า เมื่อมีโรงเรียนในกำกับของรัฐเกิดขึ้นจะต้องมีการบริหารจัดการของโรงเรียนที่ยั่งยืนทั้งการจัดการคุณภาพครู ความเป็นผู้นำของผู้อำนวยการโรงเรียน ซึ่งโรงเรียนในกำกับของรัฐจะต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมไม่ใช่มุ่งแต่คุณภาพเพียงอย่างเดียว ทั้งนี้หลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกโรงเรียนในกำกับของรัฐนั้น อาจดูตัวอย่างจากต่างประเทศก่อน เช่น ประเทศสิงคโปร์ มีการดำเนินการโรงเรียนในกำกับของรัฐ ที่มีความเป็นอิสระ มีผลสัมฤทธิ์ทางวิชาการ และได้รับความร่วมมือจากผู้ปกครอง เป็นต้น ดังนั้นแนวคิดการเป็นโรงเรียนในกำกับของรัฐจะต้องมีผู้ดูแลสนับสนุนแต่ดูแบบห่างๆ พร้อมสนับสนุนนโยบายโรงเรียน และมีความเป็นอิสระด้านงบประมาณ วิชาการ และการบริหารงานบุคคล
ประธาน กอปศ.กล่าวต่อไปว่า สำหรับโครงสร้างการบริหารจัดการการเป็นโรงเรียนในกำกับของรัฐนั้น ที่ประชุมได้หารือและมีข้อเสนอออกมาใน 3 แนวทาง คือ
- การทดลองนำร่องปฎิบัติภายใต้กฎกระทรวงที่มีอยู่
- การให้ออกเป็นพระราชกฤษฎีกาเป็นโรงเรียนองค์กรมหาชนในรูปแบบเดียวกับโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ และ
- การยกร่าง พ.ร.บ.โรงเรียนในกำกับของรัฐ
ซึ่งที่ประชุมยังไม่มีข้อสรุปในเรื่องนี้ แต่ที่ประชุมมองว่า ข้อกฎหมายของการเป็นโรงเรียนในกำกับของรัฐ อยากให้ออกเป็น พ.ร.บ.โรงเรียนในกำกับของรัฐ สำหรับการจัดการศึกษารูปแบบพิเศษมากกว่า ส่วนที่หลายฝ่ายกังวลว่าการเป็นโรงเรียนในกำกับของรัฐอาจส่งผลให้มีการเก็บค่าเล่าเรียนที่สูงขึ้นนั้น เรื่องนี้ กอปศ.ยังไม่มีคำตอบ แต่การจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นหน้าที่ของรัฐที่บริการจัดการศึกษาให้แก่ประชาชน ดังนั้นจะมีมาตรการในการควบคุมการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายในการศึกษาทั้งหมดอยู่แล้ว
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก เดลินิวส์ วันอังคารที่ 6 กุมภาพันธ์ 2561