สกศ.ถอดโมเดลอะคิตะ ทำวิจัยการสอนเชิงรุกของญี่ปุ่น เน้นให้เด็กเรียนเอง-คิดเป็น-สื่อสาร-ทวนวิชา เล็งประยุกต์ใช้ต่อยอดการศึกษาของเด็กไทย
ดร.ชัยยศ อิ่มสุวรรณ์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงาน สกศ. ให้การต้อนรับ มร.ซูซูมุ โยเนตะ ศึกษาธิการจังหวัดอะคิตะ และคณะเจ้าหน้าที่สำนักการศึกษา คณะกรรมการการศึกษาจังหวัดอะคิตะ ประเทศญี่ปุ่น โดยได้หารือความเป็นไปได้ในการประยุกต์ใช้การสอนเชิงรุกอะคิตะโมเดล(AKITA Model) ใช้ในบริบทประเทศไทย ซึ่งการสอนเชิงรุกแบบอะคิตะ เป็นการสอนที่พัฒนามาจากการเรียนรู้บนพื้นฐานของปัญหา มีขั้นตอนของการจัดกิจกรรม 4 ขั้นตอน ได้แก่
1.รู้จักตั้งข้อสังเกตในการเรียนรู้
2.มีความคิดเป็นของตนเอง
3.อภิปรายกันเป็นคู่ เป็นกลุ่ม เป็นชั้นเรียน และ
4.ทบทวนเนื้อหาและการเรียนรู้
โดยวิธีการดังกล่าวมุ่งให้เกิดการเรียนรู้อย่างลึกซึ้งผ่านการคิดด้วยตนเองและการสนทนาโต้ตอบ
"กระบวนการนี้สามารถทำให้ผลคะแนนการสอบในโครงการประเมินผลนักเรียนร่วมกับนานาชาติ หรือ พิซา ของนักเรียนทั้งระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาในจังหวัดอะคิตะสูงกว่าจังหวัดอื่น ๆ ในประเทศญี่ปุ่น ตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา ทั้งนี้ สกศ.ได้ทำการวิจัยรูปแบบดังกล่าวมาระยะหนึ่ง พร้อมนำอะคิตะโมเดลมาทดลองในสถานศึกษาของประเทศไทย จำนวน 4 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนราชมนตรี และโรงเรียนคลองพิทยาลงกรณ์ โรงเรียนประชาอุปถัมภ์ และโรงเรียนเบญจมราชานุสรณ์ ตั้งแต่ช่วงกลางปี 2560 ซึ่ง สกศ.จะสรุปสาระสำคัญงานวิจัยอะคิตะโมเดลรายงาน รมว.ศึกษาธิการ เพื่อจัดทำนโยบายการศึกษาต่อไป " ดร.ชัยยศ กล่าว.
ด้าน ศ.ดร.ไพฑูรย์ สินลารัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) ในฐานะผู้วิจัยแนวทางอะคิตะโมเดล กล่าวว่า จากการวิจัยและศึกษาข้อค้นพบของคณะกรรมการการศึกษาจังหวัดอะคิตะ พบว่า มี 5 ปัจจัยความสำเร็จที่จะทำให้การเรียนการสอนเชิงรุกแบบอะคิตะได้ผลสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ประกอบด้วย
1.ภาวะผู้นำ ของผู้บริหารสถานศึกษา เพื่อนำการทำงานเป็นทีม
2.ความร่วมมือของครอบครัวและชุมชนท้องถิ่น
3.ความร่วมมือระหว่างองค์กรทางการศึกษาที่มีความเข้มแข็ง
4.บทบาทของคณะกรรมการการศึกษาที่มีแนวคิดเชิงรุกการพัฒนาการศึกษาในพื้นที่ และ
5.การใช้อะคิตะโมเดลเชิงรุกอย่างมีประสิทธิภาพ
ซึ่งคณะผู้วิจัยมีแนวคิดไปในแนวทางเดียวกันว่า อะคิตะโมเดล มีความน่าสนใจเพราะมีหลักการและกระบวนการดำเนินงานที่ดี ภายใต้แนวคิดการสอนเด็กได้อ่าน คิด และเขียนด้วยตนเอง รู้จักมีจิตสำนึกรับผิดชอบ และได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดกับเพื่อน ซึ่งจะช่วยเติมเต็มในสังคมการเรียนของเด็กไทย และมองเห็นประโยชน์ในการรับแนวคิดดังกล่าวมาประยุกต์ใช้ในสถานศึกษาประเทศไทย ซึ่งความสำเร็จจะปรากฏชัดเจนในช่วง 3 ปี ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาเด็กไทย และจำเป็นต้องมีการประเมินและปรับปรุงการเรียนการสอนอยู่ตลอดเวลา.
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก เดลินิวส์ วันอังคารที่ 6 กุมภาพันธ์ 2561