คาดอนาคตอาจารย์เสมือนมือปืนรับจ้าง ไร้เงินเดือน-สวัสดิการ...เปิดวิกฤติ "เรือจ้างระดับมหาวิทยาลัย" เสนอยุบคณะล้าหลัง ตั้งหลักสูตรใหม่ ชี้จบป.เอก มีสิทธิ์ตกงาน กลายเป็นจอมยุทธ์พเนจร
อย่างที่ทราบกันว่าคลื่นยักษ์ยุคดิจิตอล กำลังทำลายหลายๆ ธุรกิจเดิมๆ ในยุคปัจจุบันให้กลืนหายไปกับยุคสมัย เฉกเช่นวงการสื่อสารมวลชน ที่โดนคลื่นยักษ์นี้ถล่ม จึงต้องปรับตัวเองเพื่อช่วงชิงพื้นที่สื่อ และสร้างตัวตนบนโลกออนไลน์ ไม่เพียงเท่านั้นคลื่นยักษ์ยังขยายวงกว้าง กระทบระบบธนาคาร ลูกค้าไม่จำเป็นต้องเดินเข้าไปที่สาขา เพียงมีสมาร์ทโฟนก็ทำธุรกรรมทางการเงินได้คล่องมือ ทำให้สาขาของธนาคารถูกยุบและปิดตัวกันเป็นว่าเล่น
กระทั่งลุกลามถึงประตูของ "สถาบันการศึกษา" ในระดับมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยเอกชน ล่าสุดวันที่ 31 ม.ค. ที่ผ่านมา ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวผ่านแฟนเพจ @drsuvitpage ไว้อย่างน่าสนใจว่า เมื่อโลกปรับ มหาวิทยาลัยต้องเปลี่ยน ซึ่งดร.สุวิทย์ ได้แลกเปลี่ยนมุมมองทางการศึกษาในงานสัมมนา "ภาพอนาคตการอุดมศึกษาไทย" ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยโลกในศตวรรษที่ 21 เป็นโลกที่มีความเป็นพลวัตสูง นั่นคือเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา และบางครั้งเป็นไปอย่างฉับพลันทันใด จนไม่ได้มองเวลาเป็นแค่นาทีหรือวินาทีแล้ว แต่ต้องมองไปถึงระดับเสี้ยววินาที มหาวิทยาลัยก็เช่นกัน ต้องเดินให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกในศตวรรษนี้ สิ่งที่มหาวิทยาลัยจะต้องทำเป็นอันดับแรก คือการประเมินตนเอง และเปิดใจยอมรับต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น มหาวิทยาลัยจะต้องปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ (Mindset) และระบบนิเวศ (Ecosystem) ให้เหมาะสมกับวิทยาการสมัยใหม่ และความต้องการของสังคมภายนอก ซึ่งตนเห็นว่า มหาวิทยาลัยจะต้องมีทั้ง 5 Cs นั่นคือ Content, Context, Co-Creation, Collaboration และ Contribution เพื่อสร้างระบบนิเวศน์ของการเรียนรู้ที่สมบูรณ์และสมดุล ให้เกิดการต่อยอดความรู้สู่การพัฒนาที่ยั่งยืนในสังคม
"คณาจารย์เป็นกลุ่มคนที่สำคัญมากในการปรับเปลี่ยนมหาวิทยาลัย เนื่องจากจะเป็นผู้กำหนดอนาคตของมหาวิทยาลัย จึงต้องมีวิสัยทัศน์ที่ก้าวไกล เพื่อเปลี่ยนผ่านจาก มหาวิทยาลัยที่เคยเป็น ให้เป็น มหาวิทยาลัยที่สร้างอนาคตของประเทศ ดังนั้นผมเห็นว่าถึงเวลาแล้ว ที่มหาวิทยาลัยต้องตัดสินใจเปลี่ยนตัวเองจากสิ่งเดิมๆ ต้องไม่ยึดติดกับเรื่องเก่าๆ ที่ไม่ทันต่อโลกหมุนเดินไปทุกวัน หากมีคณะใดที่ยังมีวิทยาการล้าหลังก็ต้องยุบเลิกไป ในขณะที่ถ้ามีวิทยาการใดที่ก้าวหน้าเพื่อนำประเทศไปสู่อนาคต ก็ควรจัดตั้งขึ้นเป็นคณะใหม่ เพื่อสร้างคนให้มีทักษะพร้อมที่จะใช้ชีวิตในโลกแห่งศตวรรษที่ 21 นี้ครับ" ดร.สุวิทย์ กล่าว
ขณะที่ ผศ.ดร.ธีรเกียรติ์ เกิดเจริญ ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุผ่านเฟซบุ๊กว่า หมดยุค "งานที่มั่นคง" แล้ว แม้แต่อาชีพอาจารย์มหาวิทยาลัยก็ไม่มั่นคง ตอนนี้หลายๆ มหาวิทยาลัยเริ่มลดจำนวนอาจารย์ลง จากแนวโน้มที่เด็กเกิดน้อยลง กลายเป็นว่าวันนี้มีอาจารย์มหาวิทยาลัยมากเกินไป ดังนั้นคนจบปริญญาเอกในอนาคต ไม่ว่าจะจบจากมหาวิทยาลัยระดับท็อปของโลกแค่ไหน ก็มีสิทธิ์ตกงานได้หมด เพราะตำแหน่งอาจารย์ในมหาวิทยาลัยแทบไม่มีแล้ว ทั้งนี้รูปแบบของอาจารย์มหาวิทยาลัยในอนาคตจะเปลี่ยนไป มหาวิทยาลัยจะไม่จ้างอาจารย์ประจำ
โดยจะจ้างอาจารย์ในรูปแบบใหม่ ได้แก่ 1.Freelance Professor มหาวิทยาลัยจะไม่จ้างอาจารย์เป็นตำแหน่ง Full Time อีกแล้ว แต่จะจ้างสอนเป็นรายคอร์ส ไม่ต้องจ่ายสวัสดิการหรือดูแลไปจนแก่ 2.Digital Nomad Professor อาจารย์มหาวิทยาลัยจะร่อนเร่พเนจรไปทั่วโลก ที่ไหนงานดีหรือเงินดีก็ไปสอน นอกจากนั้นยังมีรายได้จากการสอนออนไลน์ ซึ่งจะไปสอนที่ไหนก็ได้ผ่านอินเทอร์เน็ต 3.Open Innovation Research มหาวิทยาลัยไม่มีงบวิจัยให้อาจารย์อีกต่อไป อาจารย์มหาวิทยาลัยต้องไปหาเงินทุนวิจัย โดยเปิดรับโจทย์จากทั่วโลก ทั้งจากภาครัฐและเอกชน และไม่จำกัดเฉพาะในประเทศเท่านั้น และ 4.Entrepreneurial Researcher เส้นทางอาชีพสายวิชาการต่อไปจะตัน ไม่รุ่งเรืองเหมือนแต่ก่อน แต่เส้นทางสายประกอบการจะรุ่งเรื่อง งานวิจัยแบบขึ้นหิ้งจะไม่มีใครให้การสนับสนุนอีกต่อไป งานวิจัยสายแก้ปัญหา หรือสายการประกอบการ ซึ่งแก้ปัญหาให้แก่สังคม หรือภาคธุรกิจได้จริง จะเป็นเส้นทางอาชีพสายหลักของนักวิจัยในอนาคต
เช่นเดียวกับ ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า วันนี้ได้พบเจอกับนักข่าวคนหนึ่ง เล่าให้ฟังว่า เขากำลังเรียนปริญญาโทด้วยทุนส่วนตัว เพราะอาชีพสื่อมวลชนไม่มั่นคง จึงอยากผันตัวไปเป็นอาจารย์ ตนจึงบอกเขากลับไปว่า "แน่ใจหรือว่า อาชีพอาจารย์จะมั่นคง จริงๆ มันไม่มั่นคงพอๆ กับอาชีพสื่อนั่นแหละ" เพราะมันเป็นเช่นนั้นจริง ต่อไปคงมีจอมยุทธ์พเนจรทางการศึกษามากขึ้น เมื่อโลกปรับ มหาวิทยาลัยต้องเปลี่ยน แต่กระทรวงศึกษา สกอ. สมศ. จะเปลี่ยนหรือไม่.
ขอบคุณภาพ : @Teerakiat Kerdcharoen, @drsuvitpage
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก เดลินิวส์ วันพฤหัสบดีที่ 1 กุมภาพันธ์ 2561 เวลา 13.01 น.