“บุญรักษ์” แจง เกณฑ์ย้ายครู สพฐ.โรงเรียนยังเลือกครูได้ตรงกับความต้องการ พร้อม เตรียม ชง ก.ค.ศ.ปรับเกณฑ์ย้ายครูให้มีความยืดหยุ่นขึ้น
วันนี้ (29 ม.ค.) ดร . บุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวถึงกรณีที่มีผู้วิพากษ์วิจารณ์เรื่องหลักเกณฑ์การย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)โดยกังวลว่าหลักเกณฑ์แบบใหม่จะทำให้โรงเรียนไม่สามารถเลือกบรรจุครูตามวิชาเอกที่ต้องการได้นั้น ตนขอชี้แจงว่า เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเพราะในการรับครูนั้นจะเริ่มต้นจากโรงเรียนใดต้องการครูสาขาวิชาเอกอะไรบ้าง ซึ่งสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ก็จะเปิดให้ผู้ที่สอบขึ้นบัญชีได้ไปยื่นคำขอบรรจุในโรงเรียนที่มีตำแหน่งว่างในวิชาเอกนั้นๆ ดังนั้น คนที่มีสิทธิ์ไปยื่นเรื่องเพื่อขอบรรจุเป็นครูจะต้องจบในวิชาเอกหรือมีประสบการณ์สอนในวิชาที่โรงเรียนต้องการมาแล้ว หากไม่ใช่ผู้ที่จบตามที่โรงเรียนต้องการก็ไม่มีสิทธิ์ไปยื่นไม่ใช่ว่าตัวเองจบสาขาอะไรมาสามารถไปยื่นได้ทุกโรงเรียน และถึงแม้จะไปยื่นก็ไม่น่าจะมีโอกาสได้รับการพิจารณา จึงขอให้โรงเรียนสบายใจได้ว่ายังสามารถเลือกครูได้ตรงกับความต้องการเหมือนเดิม
เลขาธิการ กพฐ.กล่าวต่อไปว่า ในเร็วๆนี้ตนจะทำเรื่องเสนอคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ว่าควรมีการกำหนดตัวชี้วัดเกณฑ์ย้ายครู โดยแยกเป็นครูระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ให้มีความยืดหยุ่นไม่ตายตัวจนเกินไป เหมือนหลักเกณฑ์ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน โดยระดับมัธยมศึกษาก็ให้มีการกำหนดวิชาเอกอย่างเข้มข้น ส่วนระดับประถมศึกษา หากแม้ไม่จบวิชาเอกที่โรงเรียนต้องการมา แต่ครูมีประสบการณ์มีผลงานทางวิชาการที่เกี่ยวกับเรื่องที่จะสอนก็ให้สามารถย้ายเข้าไปสอนได้ เพราะบางครั้งโรงเรียนประถมศึกษาขนาดเล็กที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ห่างไกล และขาดแคลนครู เมื่อมีครูขอย้ายเข้าไปแม้จะไม่ตรงกับวิชาเอกที่ต้องการทางโรงเรียนก็ยินดีรับไว้ เพราะกลัวว่ามัวแต่เลือกวิชาเอกก็จะไม่มีครูเข้ามาสอน สำหรับหลักเกณฑ์การย้ายครูที่พิจารณาให้คะแนนครูที่สามารถทำให้นักเรียนมีผลงานได้รับรางวัล ซึ่งมีผู้กังวลว่าจะเป็นการเอาเปรียบครูโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกลที่ไม่มีโอกาสสร้างผลงานนั้น เมื่อมีข้อสังเกตมาตนยินดีรับฟัง และอะไรที่ยังเป็นช่องโหว่ก็ยินดีนำไปปรับปรุงแก้ไข
“อย่างไรก็ตามทั้งหมดนี้ต้องดูนโยบายของ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ และบอร์ด ก.ค.ศ.ด้วย ทั้งนี้หลักเกณฑ์ที่ สพฐ.เสนอ เนื่องจากที่ผ่านมาเรามีตำแหน่งว่าง แต่ไม่มีครูไปสอนก็เสียดายโอกาสที่โรงเรีนเหล่านั้นจะได้ครูเข้าไปสอน และก็ส่งผลให้เด็กไม่ได้เรียนกับครูอย่างเต็มที่จึงกลายเป็นปัญหาของคุณภาพการศึกษา ดังนั้น สพฐ.จึงต้องการออกหลักเกณฑ์ให้เอื้อต่อการปฎิบัติและเป็นการให้โอกาสกับทุกฝ่าย” ดร.บุญรักษ์ กล่าว
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก เดลินิวส์ วันจันทร์ที่ 29 มกราคม 2561