"บุญรักษ์" เผย ปฎิรูปการเรียนการสอนครั้งใหญ่ จัดหลักสูตรระยะสั้นในเด็กชั้นม.ต้น ให้เลือกเรียนวิชาชีพ หวังส่งไม้ต่อการเรียนให้อาชีวศึกษา ผลิตคนตอบโจทย์ประเทศ
วันนี้ (24 ม.ค.) ดร.บุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี อยากให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เพิ่มบทบาทครูแนะแนวให้มากขึ้น เพราะครูแนะแนวจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยเป็นที่ปรึกษาให้แก่เด็กทั้งด้านทักษะชีวิต และการเรียนต่อนั้น ในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องการแนะแนวมาตลอด ซึ่งที่ผ่านมา สพฐ.ได้สร้างนักจิตวิทยาโรงเรียนในหลายเขตพื้นที่การศึกษาแล้ว รวมถึงจะพัฒนาศึกษานิเทศก์ที่มีอยู่ให้เข้ามาเป็นครูนักจิตวิยามากขึ้น
เลขาธิการ กพฐ.กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ในส่วนที่นายกรัฐมนตรีมีความต้องการให้มีการกำหนดสมรรถนะผู้เรียน เพื่อคัดแยกผู้เรียนให้รู้ตัวเองว่ามีความถนัดในสิ่งที่ตนเองเรียนในด้านไหนบ้างไม่ว่าจะเป็นสายอาชีพหรือสายสามัญนั้น ขณะนี้ สพฐ.กำลังปฎิรูปการเรียนการสอนใหม่ โดยจะมีการเพิ่มหลักสูตรระยะสั้นในกลุ่มผู้เรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ซึ่งจะเป็นหลักสูตรเพิ่มเติมหลังจากการเรียนในกลุ่มวิชาสาระการเรียนรู้หลัก เช่น หลักสูตรการทำอาหาร หลักสูตรการท่องเที่ยว หลักสูตรอิเลคทรอนิกส์ เป็นต้น โดยการจัดหลักสูตรระยะสั้นนี้จะทำให้เด็กค้นพบตัวเองว่าชอบการเรียนสายอาชีพหรือสายสามัญมากกว่ากัน ดังนั้นหากเด็กเรียนจบในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 และเด็กค้นพบตัวเองว่า เมื่อเรียนหลักสูตรอาชีพระยะสั้นแล้วรู้สึกว่าตัวเองชอบในวิชาชีพนี้ก็จะเลือกเรียนต่อสายอาชีพ ซึ่งถือเป็นการส่งต่อเด็กสู่การเรียนอาชีวศึกษาด้วย ก็จะเสือกเส้นทางการเรียนต่อของตนเองได้ เพราะรู้ตัวเองแล้วว่ามีความถนัดในด้านไหน ทั้งนี้การจัดหลักสูตรระยะสั้นดังกล่าวถือเป็นการเปลี่ยนแปลงวิธีการสอนครั้งใหญ่ที่จะตอบโจทย์ในการส่งไม้ต่อให้อาชีวศึกษา เพื่อผลิตกำลังคนของประเทศในอนาคต อย่างไรก็ตามการเพิ่มหลักสูตรวิชาชีพระยะสั้นนี้จะเริ่มดำเนินการทันทีในปีการศึกษา 2561
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก เดลินิวส์ วันพุธที่ 24 มกราคม 2561