สพฐ.-กฟผ. จับมือช่วยโลกอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม ด้วยเยาวชนวัยเรียน พบปี 60 ลดค่าไฟฟ้าได้ถึง 6.3 ล้านบาท พร้อมสร้างเครือข่ายต้นแบบลดการใช้พลังงาน
วันนี้ (20 ม.ค.) ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย อ.บางกรวย จ.นนทบุรี สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา(สนก.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ ร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) โครงการความร่วมมือด้านการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมในสถานศึกษา เพื่อขับเคลื่อนนโยบายการจัดการขยะในสถานศึกษาสู่การปฏิบัติที่ยั่งยืนและเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และถอดบทเรียนในการขับเคลื่อนการจัดการขยะในสถานศึกษา
นายสืบพงษ์ บูรณศิรินทร์ รองผู้ว่าการกิจการสังคม การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า โครงการความร่วมมือด้านการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมในสถานศึกษา เป็นโครงการต่อยอดโครงการห้องเรียนสีเขียวที่ กฟผ. และ สพฐ. ร่วมดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2541 ให้เกิดการบริหารจัดการพลังงานที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยมีเป้าหมายให้โรงเรียนในสังกัด สพฐ.จำนวน 383 แห่ง และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา 141 แห่ง ต้องดำเนินกิจกรรมลดการใช้พลังงานไฟฟ้าไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ซึ่ง กฝผ.ได้สนับสนุนวิทยากรและงบประมาณเพื่อดำเนินกิจกรรมให้ความรู้และส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน โดยในปี 2561 กฝผ.เตรียมจัดค่ายกิจกรรมการอนุรักษ์พลังงานให้แก่ครูและเยาวชนกว่า 1,900 คน รอบโรงไฟฟ้า เขต เขื่อน กฝผ.ใน 5 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคเหนือที่โรงไฟฟ้าแม่เมาะ จ.ลำปาง ภาคกลางที่ศูนย์ฝึกอบรมบางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา ภาคตะวันตกที่เขื่อนศรีนครินทร์ จ.กาญจนบุรี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่เขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี และภาคใต้ที่เขื่อนรัชชประภา จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อสร้างเครือข่ายต้นแบบด้านการอนุรักษ์พลังงานและลดใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ
นายสืบพงษ์ กล่าวต่อว่า ในปี 2560 มีโรงเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรมคาร์บอนต่ำและโรงเรียนคาร์บอนต่ำสู่ชุมชนถึง 192 โรงเรียน สามารถลดใช้พลังงานไฟฟ้าได้กว่า 1.7 ล้านหน่วย ลดค่าไฟฟ้าได้ถึง 6.3 ล้านบาท และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์สู่ชั้นบรรยากาศได้กว่า 900 ตัน กฝผ.จึงได้มอบรางวัล EGAT (Green Learning Award 2017) ให้กับโรงเรียนและบุคลากรที่มีผลงานเด่น เพื่อเป็นต้นแบบด้านการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม 5 รางวัล ได้แก่ รางวัลโรงเรียนสีเขียว ซึ่งเป็นโรงเรียนต้นแบบด้านการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม จำนวน 46 โรงเรียน รางวัลโรงเรียนคาร์บอนต่ำที่สามารถลดการใช้พลังงานไฟฟ้าที่โรงเรียนได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 จำนวน 50 โรงเรียน รางวัลโรงเรียนคาร์บอนต่ำสู่ชุมชน สามารถลดการใช้พลังงานไฟฟ้าที่บ้านนักเรียนได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 จำนวน 62 โรงเรียน รางวัลชุมชนประหยัดพลังงานเบอร์ 5 ได้แก่ ชุมชนบ้านคลองยาง จ.กระบี่ และรางวัลครูหัวใจรักพลังงาน ซึ่งรับผิดชอบโครงการห้องเรียนสีเขียวไม่น้อยกว่า 5 ปี จำนวน 19 คน
น.ส.อุษณีย์ ธโนศวรรย์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ) กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ ได้กำหนดเกณฑ์มาตรฐานของโรงเรียนสีเขียวโดยให้โรงเรียนมีการดำเนินงานด้านอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบ โดยพิจารณาใน 8 ประเด็น ได้แก่ 1) นโยบายและระบบการดำเนินการตามนโยบายของโรงเรียน 2) หลักสูตรและกระบวนการเรียนการสอน 3) การจัดการด้านการใช้พลังงานในโรงเรียน 4) การจัดการด้านการใช้น้ำและน้ำทิ้งในโรงเรียน 5) การจัดซื้อ/การใช้ผลิตภัณฑ์ และการจัดการขยะในโรงเรียน 6) การดูแลคุณภาพอากาศในโรงเรียน 7) สภาพแวดล้อมและภูมิทัศน์ที่เอื้อต่อการเรียนรู้ด้านการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม 8) โครงการ/กิจกรรมร่วมระหว่างโรงเรียนกับโรงเรียนใกล้เคียงและชุมชน
รองเลขาธิการ กพฐ.กล่าวต่อไปว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ จะเป็นการสร้างความเข้าใจแนวทาง ทิศทางที่ชัดเจนในการดำเนินการโรงเรียนสีเขียว โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญ ดังนี้ 1.เพื่อให้บุคลากรโรงเรียนสีเขียว จำนวน 383 โรงเรียนมีความรู้ ความเข้าใจและจัดทำแผนปฏิบัติการในการดำเนินการให้ความรู้กับนักเรียน ผู้ปกครอง และชุมชนในด้านการลดใช้พลังงาน การจัดการขยะ และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ตามเกณฑ์การประเมินของห้องเรียนสีเขียว 2.เพื่อให้โรงเรียนสีเขียวที่เข้าร่วมสามารถสรุปความรู้และถอดบทเรียนในการพัฒนาโรงเรียนสีเขียว และ 3.เพื่อให้ผู้แทนสำนักเขตพื้นที่การศึกษามีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการดำเนินงานโรงเรียนสีเขียวด้านพลังงานและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมสู่การปฏิบัติต่อไป
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก เดลินิวส์ วันเสาร์ที่ 20 มกราคม 2561