เมื่อวันที่ 15 ม.ค. ที่โรงแรมเดอะ สุโกศล กรุงเทพ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดประชุมเชิงปฏิบัติการโครงการสนับสนุนครูเครือข่ายมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีให้สามารถขยายผลเพื่อคุณูปการต่อวงการศึกษาไทย
นางเพ็ญพรรณ จิตตะเสนีย์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว สสส. กล่าวว่า งานศึกษาวิจัยจากทั่วโลกพบข้อมูลตรงกันว่า การปฏิรูปการศึกษาที่สำคัญอยู่ที่ครู ซึ่งครูคุณภาพมีผลต่อการพัฒนาคนที่มีคุณภาพ การคัดเลือกครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี จึงเน้นคุณสมบัติครูที่สร้างการเปลี่ยนแปลงต่อชีวิตลูกศิษย์และมีคุณูปการต่อวงการศึกษา ซึ่งจะมีการคัดเลือก 2 ปีครั้ง จากความร่วมมือของคณะกรรมการระดับจังหวัดที่มาจากบุคคลหลากหลายภาคส่วน จึงเกิดครูเครือข่ายรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ที่มาจากการยอมรับในแต่ละจังหวัดและประเทศ จำนวนกว่า 300 คน ซึ่งนอกจากจะมีการยกย่องและเห็นคุณค่าของครูแล้ว สิ่งสำคัญคือการดึงศักยภาพของครูเพื่อประโยชน์สู่สาธารณะ จึงเป็นที่มาของโครงการสนับสนุนครูเครือข่ายมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีให้สามารถขยายผลเพื่อคุณูปการต่อวงการศึกษาไทย โดยการสนับสนุนของสสส. เพื่อต่อยอดการสร้างสุขภาวะเด็กและเยาวชน โดยสนับสนุนให้ครูทำงานใน 3 รูปแบบ คือ 1. ทำอย่างไรให้บารมีครูสามารถออกจากห้องเรียนและนักเรียนที่ดูแล 2. การศึกษาเพื่อตอบอาชีพในอนาคต 3. การพัฒนาครูรุ่นใหม่ พร้อมกันนี้จะมีการวิจัยและถอดบทเรียนการทำงานของครูควบคู่ไป
ดร.ดิเรก พรสีมา กรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี กล่าวว่า ครูที่ได้รับการคัดเลือกในแต่ละจังหวัดถือเป็นต้นทุนสำคัญของการพัฒนานักเรียน ครู และครูรุ่นใหม่ เพราะในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา คุณภาพการศึกษาไทยอยู่ในระดับที่สูงกว่าเวียดนามและฟิลิปปินส์ แต่ระยะหลัง คุณภาพการศึกษาของไทยตกต่ำลงไปอย่างมาก หากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองก็เป็นห่วง แม้เราไม่คิดจะแข่งขันกับใคร แต่อยากให้คนไทยช่วยเหลือตนเองได้ แก้ปัญหาได้ด้วยตัวเอง เพราะไม่มีประเทศใดสร้างความเจริญอย่างยั่งยืนได้โดยที่คนในชาติมีคุณภาพต่ำ มีบทเรียนการพัฒนาประเทศที่น่าสนใจอย่างสิงคโปร์ ที่ลีกวนยู พัฒนาชาติด้วยการลงทุนพัฒนาที่คนโดยจ้างอาจารย์จากมหาวิทยาลัยชื่อดังของโลกมาพัฒนาคนในประเทศ ทำให้คนสิงคโปร์ได้เปรียบจากคนประเทศอื่นๆ และดูจากรายได้เฉลี่ยต่อหัวในปี 2508 ที่ไทยยังสูงกว่าสิงคโปร์ แต่ปัจจุบันคนสิงคโปร์มีรายได้เฉลี่ยที่สูงกว่าไทยถึงเท่าตัว
ขอบคุณที่มาจาก ฝ่ายสื่อสารองค์กร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ