สกอ.เผยรายชื่อ 182 หลักสูตร 40 ม.รัฐ-เอกชนไร้มาตรฐาน พร้อมประกาศรายชื่อผ่านเว็บไซต์ www.mua.go.th ภายในวันนี้ ขณะที่ม.ราม พบหลักสูตรไม่มีมาตรฐานมากที่สุด 40 หลักสูตร รองลงมามรภ.เชียงราย 22 หลักสูตร ม.ธุรกิจบัณฑิต 16 หลักสูตร
ตามที่คณะกรรมการการอุดมศึกษา(กกอ.) ในการประชุมครั้งที่ 1/2561 เมื่อวันที่ 10 ม.ค. ที่ผ่านมาได้พิจารณาผลการดำเนินการประกันคุณภาพภายในระดับหลักสูตรของสถาบันอุดมศึกษาในสังกัดและในกำกับของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา( สกอ.) แล้ว มีมติเห็นชอบให้เผยแพร่รายชื่อหลักสูตรที่ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานอุดมศึกษาเป็นเวลา 2 ปีติดต่อกัน ในปีการศึกษา 2558 และ 2559 ผลปรากฏว่ามีมหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชน ที่จัดหลักสูตรไม่มีมาตรฐาน 182 หลักสูตร จากที่เปิดสอน จำนวน 9,099 หลักสูตร ล่าสุดวันนี้(16 ม.ค.) ที่ สกอ. ดร.สุภัทร จำปาทอง เลขาธิการ กกอ. เปิดเผยว่า ผลการประเมินภายในปี การศึกษา 2558และ 2559 ประเมินระดับหลักสูตรเฉพาะองค์ประกอบที่ 1 คือ เรื่องจำนวนและคุณสมบัติอาจารย์ การบริหารจัดการหลักสูตรมีการจัดการเรียนการสอนระดับปริญญาตรี โทและ เอก รวม 9,099 หลักสูตร ในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐและเอกชน 155 แห่ง ผลปรากฏว่ามี 182 หลักสูตร ใน 40 สถาบันอุดมศึกษา ที่มีปัญหาไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามการกำกับมาตรฐานตามองค์ประกอบที่ 1 เป็นเวลาติดต่อกันถึง 2 ปีการศึกษา คิดเป็นร้อยละ 2 ของหลักสูตรทั้งหมด ประกอบด้วย หลักสูตรระดับปริญญาตรี 68 หลักสูตร ปริญญาโท 89 หลักสูตร ปริญญาเอก 24 หลักสูตร และประกาศนียบัตรบัณฑิต 1 หลักสูตร
ดร.สุภัทร กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ กกอ.ยังเสนอให้สถาบันอุดมศึกษาที่มีปัญหานั้นๆ งดรับนักศึกษาในหลักสูตรดังกล่าว พร้อมปรับปรุงให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรอย่างเร่งด่วนภายใน
90 วัน เพื่อจัดการเรียนการสอนให้แก่นักศึกษาที่คงค้างอย่างมีคุณภาพจนสำเร็จการศึกษาตามเกณฑ์มาตรฐาน ทั้งนี้เนื่องจากการประเมินผลดังกล่าวเป็นกาประเมินเมื่อปี 2558และ2559 ดังนั้น สกอ.จึงต้องตรวจสอบสถานการณ์ปัจจุบันว่าสถาบันอุดมศึกษาได้มีการแก้ไขปัญหานี้ไปแล้วอย่างไรบ้างพบว่าใน 182 หลักสูตรนั้นสถาบันอุดมศึกษาได้แก้ไขปัญหาหลายรูปแบบ คือ ปิดหลักสูตร 59 หลักสูตร งดรับนักศึกษาไปแล้ว 68 หลักสูตร ควบรวมหลักสูตร 2 หลักสูตร และยังเปิดดำเนินการสอนพร้อมปรับปรุงแก้ไข 53 หลักสูตร ออย่างไรก็ตาม สกอ.ได้นำข้อมูลรายชื่อหลักสูตรดังกล่าวเผยแพร่ทางเว็บไซต์สกอ. www.mua.go.th แล้ว
“เพื่อให้การจัดการศึกษาในหลักสูตรดังกล่าวมีผลกระทบต่อนักศึกษาผู้เรียนน้อยที่สุด และคงไว้ซึ่งคุณภาพตามเกณฑ์มาตรฐานอุดมศึกษา สกอ. ได้เตรียมหารือกับที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ในการหมุนเวียน อาจารย์ประจำหลักสูตร เนื่องจากร้อยละ 90 ของ182 หลักสูตรดังกล่าวจะมีปัญหาในประเด็นเรื่องจำนวน คุณวุฒิ และคุณสมบัติอาจารย์ประจำหลักสูตร รวมทั้ง สกอ. ได้วางแผนจัดการประชุมเพื่อจัดระบบคลินิคแก้ไขปัญหาร่วมกับสถาบันอุดมศึกษาต่างๆในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2561 เนื่องจากบางหลักสูตรมีปัญหาด้านกระบวนการจัดการแต่สถาบันอุดมศึกษาสามารถปรับปรุงได้ด้วยตนเองโดยทันที”เลขาธิการ กกอ. กล่าวและว่าการที่ กกอ.มีมติให้ประกาศรายชื่อหลักสูตรที่ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานมีข้อดีให้เห็น เพราะตนได้คุยกับอธิการบดีหลายท่านก็บอกว่าเป็นการกระตุ้นให้มหาวิทยาลัยตื่นตัว และพบว่าหลักสูตรไหนที่มีปัญหาก็ตัดสินใจรวดเร็วขึ้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับสถาบันอุดมศึกษาที่หลักสูตรไม่ได้มาตรฐานมากที่สุด 5 อันแรก ได้แก่1.มหาวิทยาลัยรามคำแหง 40 หลักสูตร รองลงมา 2. มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย 22 หลักสูตร 3.มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต 16 หลักสูตร 4.มหาวิทยาลัยราชภัฎมหาสารคาม 11 หลักสูตร และ5.มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร 7 หลักสูตร ส่วนหลักสูตรที่ไม่มีมาตรฐาน เช่น หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาธุรกิจระหว่างประเทศ หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการท่องเที่ยว หลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต หลักสูตรศึกษาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารการศึกษา หลักสูตรวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก เดลินิวส์ วันอังคารที่ 16 มกราคม 2561