ต้อนรับวันครู ผลสำรวจชี้ “เด็กไทยต้องการความรักก่อนความรู้” คาดหวังให้ครูเป็นที่พึ่ง เหตุพ่อแม่ไม่มีเวลาให้ สสค.-สกว.-สพฐ. หนุน เปลี่ยน 201 โรงเรียน ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีความสุข ด้วยโมเดล “เรียนสุข สนุกสอน” พร้อมขยายผลห้องเรียน sQip เป็นต้นแบบเรียนรู้ ทั่วประเทศ
สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ร่วมกับ สกว. สพฐ. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์จิตวิทยาการศึกษา มูลนิธิยุวสถิรคุณ มหาวิทยาลัยนเรศวร แถลงข่าวผลสำรวจ Gap ในห้องเรียนไทย พร้อมเปิดความสำเร็จโครงการ sQip เปลี่ยนห้องเรียนไทยให้ “เรียนสุข สนุกสอน”
ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ หัวหน้าคณะวิจัยโครงการวิจัยปฏิบัติการโรงเรียนพัฒนาคุณภาพต่อเนื่อง คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากผลสำรวจความสัมพันธ์ระหว่างนักเรียนและครู ผู้บริหาร ผู้ปกครอง และตัวแทนชุมชน กลุ่มตัวอย่างประมาณ 24,000 คน โดยแบ่งเป็นกลุ่มตัวอย่าง นักเรียนชั้น ป.6 ม.3 และม.6 จำนวน 10,000 คน กลุ่มครูจำนวน 4,000 คน กลุ่มผู้บริหาร 200 คน จากโรงเรียนขนาดกลางจำนวน 110 แห่ง กลุ่มผู้ปกครองจำนวน 9,000 คน และกลุ่มตัวแทนชุมชนจำนวน 800 คน พบว่า 4 เรื่องใหญ่ในมุมมองเด็กไทยที่มีผลต่อการเรียนคือ 1.เด็กๆ อยากได้ความใส่ใจเป็นรายบุคคลจากคุณครูอย่างจริงจังมากกว่านี้ อยากมีครูคนโปรดที่สนิทเป็นพิเศษ มีครูที่ให้เวลาเขามาพูดคุยได้เสมอ และอยากได้ความใส่ใจอย่างเท่าเทียมไม่ลำเอียงจากครู 2.นิสัยและพฤติกรรมการเรียนของเด็กยังต้องพัฒนาด้วย ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรม การอ่านการค้นคว้า การทำการบ้าน ไปจนถึงการมีส่วนร่วมในชั้นเรียน 3.ครอบครัวให้เวลาใส่ใจกับการเรียนของเด็กน้อยไป 4.ความสัมพันธ์กับเพื่อน เช่น ความรู้สึกเป็นที่ยอมรับ การมีเพื่อนพูดคุยปรึกษาปัญหาต่างๆ ไปจนถึงการที่เด็กๆ สามารถช่วยติวกันเองได้ ส่วน 4 เรื่องใหญ่ในมุมมองของครูที่มีผลต่อการสอน 1.ครูไม่มั่นใจในความรู้ความสามารถของตนบางเรื่อง เช่น การสอนเด็กที่มีความต้องการพิเศษ การวัดผลเพื่อพัฒนาผู้เรียน การปรับเทคนิคการสอนตามความต้องการผู้เรียน 2.ปัญหาช่องว่างระหว่างผู้บริหารที่ยังมีอยู่บ้าง เช่น การยอมรับในความสามารถ การเข้าถึง การรับฟัง การมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น 3.ปัญหาความสัมพันธ์กับผู้ปกครองที่ครูไม่มั่นใจนัก ขาดความคุ้นเคยสนิทสนม 4.ความสัมพันธ์ระหว่างครูด้วยกันก็ยังมีเรื่องให้เติมเต็ม เช่น การช่วยเหลือระหว่างเพื่อนครูในแง่แลกเปลี่ยนวิธีการสอน การพูดคุยปัญหาในห้องเรียน เพื่อพัฒนาร่วมกัน ส่วน 4 เรื่องใหญ่ในมุมของพ่อแม่ คือ 1.ไม่มีเวลาใส่ใจการเรียนลูก 2.รู้สึกห่างเหินจากโรงเรียน ไม่มีส่วนร่วมกิจกรรมต่างๆ 3.ความมั่นใจต่อโรงเรียนในบางเรื่องก็ได้รับผลกระทบ 4.ความมั่นใจในการสอนของครูลดน้อยลง
ดร.อมรวิชช์ กล่าวว่า การสำรวจยังพบช่องว่างระหว่างครูและนักเรียนที่เป็นปัญหาใหญ่อันดับต้นๆ ได้แก่ 1.ครูปฏิบัติต่อนักเรียนทุกคนอย่างเท่าเทียม 2.การรู้จุดเด่นหรือความสามารถของนักเรียนรายคน 3.การให้เวลาพูดคุยหรือปรึกษาปัญหากับนักเรียน ส่วนช่องว่างระหว่างนักเรียนกับผู้ปกครองที่เป็นปัญหาอันดับต้นๆ ได้แก่ 1.การถูกกลั่นแกล้งรังแกในโรงเรียน 2.การพูดคุยเล่าปัญหาระหว่างผู้ปกครองและบุตร 3.การให้เวลาช่วยบุตรหลานทำการบ้าน ช่องว่างระหว่างครูกับผู้ปกครองที่เป็นปัญหา ได้แก่ 1.การให้เวลาพูดคุยและปรึกษาปัญหา 2.การรู้จุดเด่นและความสามารถของผู้เรียนรายคน สุดท้ายช่องว่างระหว่างครูกับผู้บริหาร ได้แก่ 1.การยอมรับในความสามารถของครู 2.การให้โอกาสครูในการมีส่วนร่วมต่อการบริหาร
“การสำรวจยังสะท้อนถึงระดับความผูกพันต่อกระบวนการเรียนรู้ ซึ่งในมุมมองของเด็กนั้น การที่พ่อแม่/ผู้ปกครองมีเวลาช่วยทำการบ้านเสมอ เป็นข้อที่เด็กรู้สึกผูกพันน้อยที่สุด ซึ่งตรงอย่างยิ่งกับมุมมองของผู้ปกครองที่มีระดับความผูกพันต่อเรื่องการมีเวลาช่วยลูกทำการบ้านต่ำสุดเช่นกัน ยิ่งชี้ชัดว่า ในยุคนี้ เด็กๆ ต่างหวังพึ่งครูค่อนข้างมาก อยากที่จะสนิทสนม มีครูเป็นที่ปรึกษา ทั้งเรื่องการเรียนและจิตใจ เพราะครอบครัวไม่มีเวลาให้ จากข้อเท็จจริงเหล่านี้ ไม่อยากให้มองว่าเป็นปัญหา แต่เป็นช่องว่างที่สามารถพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นได้ เป็นโอกาสให้โรงเรียนยกระดับเป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีความสุข ผ่านการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายทั้ง นักเรียน ครู ผู้บริหาร พ่อแม่ผู้ปกครองรวมถึงชุมชนด้วย โดยเฉพาะ ในยามที่ทุกฝ่ายพยายามส่งเสริมเรื่องการเรียนรู้ให้แก่เด็กมากๆ แต่สิ่งที่พวกเขาต้องการมากที่สุดกลับคือความรัก ความใส่ใจ มีครูที่รักไว้ใจ เข้าใจ ”
นายนคร ตังคะพิภพ หัวหน้าโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการโรงเรียนพัฒนาคุณภาพต่อเนื่อง หรือ sQip กล่าวว่า ข้อค้นพบเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ในวงการศึกษาไทย แต่เป็นประเด็นสำคัญที่สังคมควรแลกเปลี่ยนและหาทางออกที่ยั่งยืนร่วมกัน จากการศึกษาของศาสตราจารย์ John Hattie พบว่า Super Factor หรือ ปัจจัยที่มีผลต่อคุณภาพการเรียนการสอนมากที่สุดคือ ความร่วมมือร่วมใจของครู ผู้บริหาร บุคลากรในสถานศึกษาทั้งหมดที่จะช่วยกันพัฒนาโรงเรียนโดยมุ่งเป้าไปที่ผลการเรียนรู้ของนักเรียนเป็นสำคัญ ซึ่งเป็นเป้าหมายของโครงการ sQip ที่ดำเนินการมา 1 ปี ในโรงเรียนขนาดกลางจำนวน 201 โรงเรียน ใน 14 จังหวัดทั่วประเทศในอนาคตจะเป็นพื้นฐานการยกระดับคุณภาพต่อเนื่องให้โรงเรียนเป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีความสุข โดยแนวคิดของโครงการคือ ห้องเรียนเป็นฐาน กระบวนการเป็นทุน ประกอบด้วยปัจจัย 4 ด้าน คือ พ่อแม่/ผู้ปกครอง ครู นักเรียน โรงเรียน ซึ่งโครงการเข้าไปสนับสนุนให้เกิดกระบวนการพัฒนา 2 ด้าน คือ สร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ หรือ PLC ของโรงเรียน และสร้าง Growth Mindset หรือกรอบคิดแบบเติบโต ให้กับบุคลากรในโรงเรียน
“เรื่องนี้เป็นแนวทางสอดคล้องกับ สพฐ.ที่มองว่าการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและการพัฒนาครูเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องทำควบคู่กัน ความสำเร็จ 1 ปีที่ผ่านมา ทุกโรงเรียนสามารถนำกระบวนการ PLC และ Growth Mindset ไปใช้อย่างได้ผล โดยโครงการหนุนการพัฒนาผู้บริหารโรงเรียนและครูจำนวน 2,990 คน ผลการประเมินมีศักยภาพทั้งสองด้านสูงขึ้นร้อยละ 96.7 มีการรวมกลุ่มครู PLC หลายรูปแบบเพื่อพัฒนาการเรียนการสอนทั้ง 201 โรงเรียน เกิดห้องเรียน sQip ซึ่งเป็นห้องเรียนต้นแบบ “เรียนสุข สนุกสอน” สามารถขยายผลเป็นต้นแบบเรียนรู้ไปทั่วประเทศ ด้วยโมเดล “เรียนสุข สนุกสอน” ปลายทางของทั้ง 201 โรงเรียนจะเป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีความสุข ที่มีการเปลี่ยนแปลงสำคัญคือ เพิ่มผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียน เพิ่มโอกาสชีวิตและอาชีพ ครูมีขีดความสามารถสูงขึ้นต่อเนื่อง ชุมชนก็จะศรัทธาในโรงเรียน ” นายนครกล่าว
นางณิชนันทน์ ศรีวลีรัตน์ อาจารย์กลุ่มสาระภาษาต่างประเทศ โรงเรียนไทรโยคน้อยวิทยา 1 ในต้นแบบห้องเรียน sQip “เรียนสุข สนุกสอน” กล่าวว่า ยอมรับว่าเจอปัญหาในการสอนอยู่ตลอด เพราะนักเรียนแต่ละคนนั้นแตกต่างกัน แต่เราจะไม่เลือกปฏิบัติ ด้วยจิตวิญญาณของความเป็นครู ครูกับเด็กต้องมีความรักและความอาทร เป้าหมายต้องทำให้เด็กทุกคนได้ความรู้ ถ้าเด็กไม่ได้ก็จะไม่กดดัน ต้องหาแนวทาง เทคนิคการสอนที่ช่วยเปิดโลกทัศน์ เปิดใจให้เด็กเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง เครื่องมือสำคัญที่ช่วยได้คือ การมี Growth Mindset และ ชุมชน PLC ระหว่างเพื่อนครูที่เข้มแข็ง เพราะบางครั้งบางปัญหาเรามองไม่เห็นแต่ครูคนอื่นมองเห็น ถ้ามีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ก็เป็นตัวช่วยได้ เอามาปรับเสริมกัน ช่วยกันคิดค้นเทคนิคการสอนใหม่ๆ ทำให้มุมมองการสอนของเราพัฒนาขึ้น ต้องยอมรับว่าผู้บริหารสถานศึกษามีส่วนสำคัญที่ช่วยสนับสนุนให้กลุ่มครูมีพื้นที่เรียนรู้พัฒนาตัวเอง และเปิดโอกาสให้มีส่วนร่วม มีสิทธิมีเสียงช่วยพัฒนาโรงเรียนให้เป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีความสุข
นางสาวสุนิสา เสรีรัตนพร นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนไทรโยคน้อยวิทยา กล่าวว่า ยอมรับว่า ช่องว่างระหว่างครู นักเรียนยังมีอยู่มาก วิธีการสอนแบบเดิมๆ ไม่ได้ทำให้ใกล้ชิดขนาดนี้ รู้สึกเกร็ง ไม่สนิท เมื่อคุณครูเปลี่ยนวิธีการสอนแบบใหม่ ใช้เกมส์หรือกิจกรรมเข้ามาเสริม ทำให้รู้สึกสนุกกับการเรียน สนิทกับครูมากขึ้น เจอหน้าไม่เครียด ไม่อึดอัด กล้าที่จะพูดคุย ซักถามสิ่งที่ไม่เข้าใจ จากเดิมที่เพื่อนคือสิ่งที่ทำให้อยากมาโรงเรียน แต่ตอนนี้ทัศนคติเปลี่ยนแปลงไป วิชาที่เรียนแต่ละวัน คุณครู และกิจกรรมในโรงเรียน ทำให้อยากมาโรงเรียนเพราะสนุกและมีความสุขที่ได้เรียน
ขอบคุณข้อมูลจาก ทีมสื่อสารสาธารณะ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.)