รมว.ศึกษาธิการ ถก ติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการจัดการศึกษาของ ศธ. ปลื้ม การตรวจราชการมีระบบมากขึ้น ชี้ จากนี้พบปัญหาการศึกษาในพื้นที่จะนำเข้าบอร์ด คปภ.ทันที เพื่อเร่งแก้ปัญหา
วันนี้ (12 ม.ค.) นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการจัดการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ว่า ที่ประชุมได้หารือถึงการตรวจราชการของศธ. และรายงานให้ทราบว่าขณะนี้ระบบการตรวจราชการของเราทำงานกันมีระบบมากขึ้น ซึ่งตนต้องขอชื่นชม เพราะมีการรายงานข้อมูลที่ชัดเจนไม่ว่าจะเป็นการวิเคราะห์การใช้ทรัพยากรของศธ.ว่าที่ผ่านมามีการลงทุนกับโรงเรียนต้นทุนเท่าไหร่ และพื้นที่ไหนมีคะแนนทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) สูงหรือต่ำ โดยสิ่งที่ตนต้องการมากที่สุดเมื่อมีการตรวจสอบเสร็จสิ้นคืออยากให้ข้อมูลการตรวจราชการของศธ.เมื่อพบปัญหาให้แก้ปัญหาทันที เพราะที่ผ่านมากว่าจะรอรายงานการพบปัญหาของแต่ละพื้นที่ต้องใช้ระยะเวลา 6 เดือน เช่น การจัดการเรียนการสอนของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) พบ การเรียนในระดับชั้นอนุบาล 1 มีนักเรียนเรียนเพียงคนเดียวต่อห้อง ประมาณ 2,000 โรง ซึ่งในเรื่องนี้ถือเป็นการดำเนินการตรงข้ามกับนโยบายที่ตนสั่งไปว่า การจัดการศึกษาในระดับอนุบาลของ สพฐ.ต้องทำในโรงเรียนที่มีความพร้อม ส่วนที่เหลือให้เป็นหน้าที่ของเอกชนและท้องถิ่นดำเนินการ เป็นต้น
"ปัญหาต่างๆเหล่านี้ถือเป็นประโยชน์อย่างหนึ่งจากการตรวจราชการที่ลงไปพบปัญหา เพราะหากให้ สพฐ.ดำเนินการก็คงไม่ได้รายงานปัญหานี้ให้ผมรับทราบ ดังนั้นที่ประชุมจึงมีข้อสรุปว่า เพื่อให้การแก้ไขปัญหาเมื่อผู้ตรวจราชการลงไปพบข้อมูลปัญหาในพื้นที่ต่างๆ ให้นำรายงานต่อที่ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนปฎิรูปการศึกษาธิการในภูมิภาคได้เลยทันที ซึ่งจะได้แก้ปัญหาของแต่ละพื้นที่ได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น” รมว.ศึกษาธิการ กล่าว
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก เดลินิวส์ วันศุกร์ที่ 12 มกราคม 2561 เวลา 12.43 น.