"หมออุดม" ถก วางแนวทางปฎิรูปอาชีวศึกษาและอุดมศึกษา เตรียม เข็น อาชีวะเทียบหลักสูตรถึงปริญญาเอกได้เงินตามฝีมือ หวังให้เด็กช่างมีทักษะแบบวิศวกร พร้อมอัปเกรดบัณฑิตไทยถ้าตกภาษาอังกฤษอดได้ใบปริญญา
วันนี้ (11 ม.ค.) ศ.นพ.อุดม คชินทร รมช.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ในการประชุมการนำนโยบายสู่การปฎิบัติขับเคลื่อนการพัฒนาการศึกษาระดับอาชีวศึกษาและอุดมศึกษา เมื่อเร็วๆนี้ ที่ประชุมได้หารือตามข้อสั่งการของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ต้องการให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มุ่งเน้นการปฎิรูปอาชีวศึกษาและอุดมศึกษา เพื่อผลิตกำลังคนในกลุ่มเหล่านี้ให้ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศในอนาคต โดยในส่วนของการปฎิรูปอาชีวศึกษาที่ประชุมมีข้อสรุปว่า จะมีการคัดเลือกนำร่องวิทยาลัยอาชีวศึกษาที่มีความพร้อมด้านครูและบุคลากร และสื่อการเรียนการสอน จำนวน 24 แห่ง ใน 7 กลุ่มสาขาวิชา ได้แก่ ระบบขนส่งทางราง ช่างอากาศยาน แมคคาทรอนิกส์ หุ่นยนต์อุตสาหกรรม เทคนิคพลังงาน เทคโนโลยีและการท่องเที่ยว และโลจิสติก ซึ่งกลุ่มที่คัดเลือกมานั้นถือว่าตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติ โดยจะมาผลักดันและยกระดับขีดความสามารถของผู้เรียนอาชีวะให้ตรงกับเป้าหมายให้มีทักษะสูงขึ้น รวมถึงปั้นให้เด็กที่เรียนสายอาชีพเหล่านี้เป็นช่างอาชีวะที่มีความคิดแบบวิศวกรให้ได้ เช่น สร้างกรอบหลักสูตรเชิงลึกด้านทักษะฝีมือช่างว่าเรียนระดับนี้จะเทียบเท่ากับการเรียนปริญญาโทหรือเอก โดยที่เด็กไม่ต้องมานั่งเรียนต่อในระดับที่สูงอีก เป็นต้น ซึ่งหากทำได้เราจะส่งเรื่องไปที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เพื่อการันตีเงินเดือนที่สูงให้ด้วย
“ที่ประชุมมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ไปวิเคราะห์แนวทางปริมาณความต้องการในอนาคตและงบประมาณที่จะดำเนินการ และปรับหลักสูตรการสอน การนำภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม และผลสัมฤทธิ์ที่เกิดขึ้นจะเป็นอย่างไร รวมถึงเล็งที่จะเปิดโอกาสให้ผู้ที่จบในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และประกาศนียบัตรวิชาชีพขั้นสูง (ปวส.) ได้นำประสบการณ์ความรู้จากการทำงานมาเทียบโอนกับหน่วยกิตของมหาวิทยาลัยได้ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ก็แนะว่าเรื่องนี้สามารถทำได้โดยสภามหาวิทยาลัยจะต้องสร้างกฎเกณฑ์มากำหนดว่าจะเทียบโอนอย่างไร โดยประเด็นนี้จะช่วยให้คนที่ทำงานสายอาชีพได้มาเทียบเป็นเครดิต เพื่อไม่ต้องไปเรียนนาน ถือเป็นแรงจูงใจอีกแนวทางหนึ่ง” ศ.นพ.อุดม กล่าว
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า สำหรับการปฎิรูปอุดมศึกษานั้นที่ประชุมเห็นว่ามหาวิทยาลัยทุกแห่งควรปรับตัวให้เกิดทิศทางตามความต้องการของประเทศเช่นกัน โดยเฉพาะการเปิดหลักสูตรที่เน้นการบูรณการ ซึ่งที่สำคัญมหาวิทยาลัยจะต้องสร้างทักษะบางอย่างที่เป็นภาคบังคับ เช่น ทักษะภาษาอังกฤษ ทักษะด้านดิจิทัล เป็นต้น เพราะทักษะเหล่านี้คือคุณลักษณะอันพึงประสงค์ที่ต้องอยู่ในตัวเด็กทุกคนและโลกในอนาคต ซึ่งตนจะทำเป็นนโยบายอย่างจริงจังด้วยการสร้างหลักเกณฑ์ทักษะภาคบังคับให้แก่นักศึกษา เหมือนที่ตนได้เคยทำไว้ที่มหาวิทยาลัยมหิดล คือ นักศึกษาจะต้องสอบผ่านวิชาภาษาอังกฤษทั้งหมดไม่เช่นนั้นจะไม่ได้รับใบปริญญาบัตร นอกจากนี้จะให้มหาวิทยาลัยสร้างหลักสูตรแบบบูรณการมากขึ้น โดย สกอ.จะไปวางแนวทางให้ยืดหยุ่นต่อการบูรณาการหลักสูตรของแต่ละคณะในมหาวิทยาลัย เพราะเรื่องนี้ถือเป็นโครงการพิเศษนำร่องที่จะตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติและต้องทำให้เกิดขึ้นในเดือน ส.ค.ปีการศึกษา 2561 ให้ได้ด้วย ขณะเดียวกันการบูรณาการหลักสูตรของแต่ละมหาวิทยาลัยจะนำเข้าสู่ระบบการรับสมัครคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาหรือทีแคสรอบที่ 5 ในเดือนมิ.ย. ดังนั้นมหาวิทยาลัยจะต้องดำเนินการบูรณาการหลักสูตรให้แล้วเสร็จภายในเดือน เม.ย.นี้ เพื่อที่จะประกาศให้เด็กและผู้ปกครองรับทราบว่าเรามีหลักสูตรสายพันธุ์ใหม่เกิดขึ้นแบบไหนบ้าง อย่างไรก็ตาม สอศ.และ สกอ.จะต้องกลับไปทำการบ้าน เพื่อวิเคราะห์แนวทางการปฎิรูปเหล่านี้ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นธรรม
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก เดลินิวส์ วันพฤหัสบดีที่ 11 มกราคม 2561