World EconomicForumระบุไม่ตรงเป้า/ดึงเอกชนช่วยร่างหลักสูตร
ยกเครื่องหลักสูตรผลิตกำลังคนใหม่ หลัง World Economic Forum ระบุไทยผลิตไม่ตรงตามความต้องการ เพิ่มหลักสูตรระบบราง โรโบติกส์ แมคคาทรอนิกส์ ที่ยังขาดแคลน โดยมอบหมออุดม ดูแล ดึงผู้เชี่ยวชาญ ผู้ประกอบการ ช่วยร่าง เสร็จภายใน 2 เดือน ใช้ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 61 นัดหารืออีกครั้ง 5 ม.ค.นี้
นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวว่า ตามที่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีการหารือถึงเรื่องการปฏิรูปการศึกษาในระดับอาชีวศึกษาใหม่ เนื่องจาก World Economic Forum ได้ประเมินผลจากผู้ประกอบการในประเทศไทยแล้ว พบว่า หน่วยงานการศึกษายังผลิตกำลังคนออกมาไม่ตรงกับความต้องการ ทั้งระดับอุดมศึกษาและอาชีวศึกษา ดังนั้นตนจึงมอบหมายให้ นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) เป็นประธานขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงอุดมศึกษาและอาชีวะใหม่ โดยจะเริ่มจากการปรับปรุงหลักสูตรใหม่ พร้อมทั้งนำผู้ประกอบการ ผู้เชี่ยวชาญ เข้ามาช่วยการปรับปรุง เพื่อให้ได้สิ่งที่เกิดขึ้นในโลกจริงๆ เพราะการจะผลิตกำลังคนเราจะต้องนึกถึงภาพระยะไกล มองทิศทางของรูปแบบงานในอนาคต และทำหลักสูตรในตอบโจทย์ตรงนั้นให้ได้
นอกจากนี้ หลักสูตรจะต้องมีความยืดหยุ่น และสามารถปรับเปลี่ยนได้ เช่น หลักสูตรรถไฟราง หลักสูตรโรโบติกส์ หลักสูตรแมคคาทรอนิกส์ และหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ด้วย ซึ่งจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 2 เดือน รวมถึงจะต้องมีการเสนอรูปแบบแผนพัฒนาคนสูตรใหม่ เช่น อาชีวะ 4.0, อาชีวะพันธุ์ใหม่, มหาวิทยาลัยหลักสูตรใหม่ เป็นต้น เสนอให้ ครม.พิจารณา เพื่อที่จะจัดสรรงบประมาณสนับสนุน คล้ายกับโครงการผลิตแพทย์เพิ่ม อย่างไรก็ตาม การดำเนินการดังกล่าวจะเริ่มในมหาวิทยาลัยหรือวิทยาลัยที่มีความพร้อมก่อน ไม่ใช่ทำพร้อมกันหมด ซึ่งตนต้องการที่จะเริ่มภายในภาคเรียนที่ 1 ของปีการศึกษา 2561 นี้
“การดำเนินการเรื่องเหล่านี้จะต้องมีการลงทุน เพราะการปรับเปลี่ยนจำเป็นต้องใช้เครื่องมือใหม่ อาจารย์พิเศษ หรือบางสถานศึกษาอาจจะต้องมีการเรียนจากสถานที่จริง รวมถึงอาจจะต้องมีการอบรมครูบางส่วนด้วยในลักษณะภารกิจเฉพาะ และการปฏิรูปครั้งนี้จะต้องนึกถึงผลลัพธ์เป็นหลัก ไม่ใช่ผลผลิตอย่างเดียว เพราะที่ผ่านมาเราห่วงแต่ว่าจะมีเด็กเรียนจบเท่าไร แต่ไม่ได้ห่วงเรื่องคุณภาพ สำหรับการเรียนการสอนในสาขาอื่นๆ ก็ไม่ได้มีการยกเลิก เพียงแต่ต้องมีการปรับตัว เช่น การเรียนการตลาดแบบออนไลน์ เป็นต้น และเด็กจะต้องทราบว่าเรียนไปแล้วมีงานทำหรือไม่ด้วย ทั้งนี้ จะมีการหารือเรื่องดังกล่าวอีกครั้งในวันที่ 5 มกราคมนี้” รมว.ศธ.กล่าว
ด้านนายสุภัทร จำปาทอง เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (เลขาฯ กกอ.) กล่าวว่า สำหรับการดำเนินการของการปรับหลักสูตรมหาวิทยาลัยในส่วนของกลุ่มที่มีความพร้อม สามารถดำเนินการได้ทันที และสำหรับกลุ่มที่ต้องการที่จะผลิตแต่ยังไม่มีความพร้อมก็สามารถประสานร่วมระหว่างมหาวิทยาลัยได้ ซึ่งสามารถขอดุลพินิจจากคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) เป็นกรณีพิเศษได้ อย่างไรก็ตาม การปรับหลักสูตรจะต้องทำให้สามารถเชื่อมต่อกับอาชีวศึกษาได้ด้วย ซึ่งจะต้องมาดูในส่วนของเนื้อหารายวิชาต่างๆ ที่ต้องทำให้ตรงกัน เพื่อที่จะสามารถโอนหน่วยกิตและศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีได้.
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก ไทยโพสต์ วันที่ 5 มกราคม 2560