“หมออุดม” มอบนโยบายข้าราชการ สกอ. ย้ำทุกคนต้องพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง แนะสกอ.และมหาวิทยาลัยร่วมมือกันทำงาน มองเป้าเดียวกัน เล็งนำร่อง7 มหา’ลัยปรับหลักสูตรพันธุ์ใหม่
วันนี้ (4ม.ค.) ที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) ศ.นพ.อุดม คชินทร รมช.ศึกษาธิการ เดินทางมามอบนโยบายให้แก่ข้าราชการ สกอ. โดยมีดร.สุภัทร จำปาทอง เลขาธิการ กกอ. นายขจร จิตสุขุมมงคล ดร.อรสา ภาววิมล รองเลขาธิการ กกอ. ผู้บริหารและบุคลากร สกอ.ต้อนรับ ศ.นพ.อุดม กล่าวว่า ตนอยากให้อุดมศึกษามีหน้าที่ในการสร้างศักยภาพของประเทศ ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลให้งบประมาณ มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ประมาณ 1 แสนล้านบาทต่อปีในการพัฒนามหาวิทยาลัยและบัณฑิต ซึ่งมีประมาณ 2 ล้านคน แต่ลงทุนไม่กี่หมื่นล้านบาทกับแรงงาน 35-40 ล้านคน ในจำนวนนี้จบระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) จบปริญญาตรี เพียง 25% หากเป็นเช่นนี้เราคงสู้กับใครไม่ได้ แต่ตนไม่ได้บอกว่าคนเหล่านี้ไม่สำคัญ แต่เป็นกลุ่มคนที่มหาวิทยาลัยต้องเข้าไปช่วยพัฒนาศักยภาพ และเป็นเรื่องสำคัญที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ มอบโจทย์ให้ตนไปหาแนวทางแก้ไขใน 3 เดือน อีกกลุ่มหนึ่งที่มหาวิทยาลัยต้องเตรียมหลักสูตรเพื่อพัฒนาให้ คือกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งในปี 2566 ประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุมากถึง 20% ของประชากรทั้งประเทศ ปี2573 เพิ่มเป็น 25% ถือเป็น 1 ใน 4 ของประชากรทั้งหมด
ศ.นพ.อุดม กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้อยากให้มหาวิทยาลัยทลายกำแพงระหว่างคณะลง จัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการร่วมกัน เช่น คนที่เรียนคณะวิศวกรรมศาสตร์ สามารถเรียนด้านบริหารธุรกิจควบคู่ไปด้วยได้ เพื่อให้มีความรู้ ความสามารถที่รอบด้านมากขึ้น ตอบโจทย์การทำงานในอนาคต หรือเรียกว่าหลักสูตรพันธ์ใหม่ ขณะนี้ตนได้ตั้งเป้าไว้แล้วว่าจะให้มหาวิทยาลัย 7 แห่ง นำร่องเริ่มจักการเรียนการสอนแบบบูรณากร โดยจะทำให้ทันในปีการศึกษา 2561 และต่อไปหากมหาวิทยาลัยสามารถเปิดสอนในทิศทางที่ตอบโจทย์ความต้องการของประเทศไทย โดยเฉพาะด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่จะต้องเพิ่มขึ้น โดยตนอาจจะให้งบประมาณเป็นรายหัว เช่นเดียวกัน การผลิตแพทย์ พร้อมทั้งมหาวิทยาลัยต้องปรับตัวเป็นแหล่งการเรียนรู้ ตามทิศทางอุดมศึกษาโลกยุคใหม่ สอนเด็กให้มี กระบวนการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงภาพใหญ่ของโลก อย่างไรก็ตามในอนาคตคนที่จะเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยจะลดลง เนื่องจากอัตราการเกิดที่ลดลง ขณะเดียวกันการเรียนในระบบออนไลน์จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น หากมหาวิทยาลัยไม่ปรับตัวก็จะต้องปิดตัวลง โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยเอกชนที่จะทยอยปิดตัวลงอย่างแน่นอน ส่วนมหาวิทยาลัยของรัฐถ้าไม่มีคุณภาพจะถูกควบรวม ดังนั้นมหาวิทยาลัยจะต้องปรับการเรียนการสอน หลักสูตรต้องยืดหยุ่น ให้คนที่จบแล้วกลับมาเรียนได้ หรือจบออกมาแล้วมีงานทำ ไม่ใช่ตกงาน ขนาดมหาวิทยาลัยมหิดล (มม.)ซึ่งเป็นอันดับ1 ของประเทศ ยังมีบัณฑิตตกงานถึง 17%
นพ.อุดม กล่าวอีกว่า สุดท้ายขอย้ำคือหลักการมหาวิทยาลัยจะต้องมีอิสระ แต่จะต้องตอบโจทย์ประเทศ ส่งเสริมประเทศให้เกิดการแข่งขัน โดยตนจะใช้กลไกทางงบประมาณในการผลักดัน การดำเนินการต้องสอดคล้องกับความต้องการของประเทศ หากใครอยากทำอย่างอื่นก็ต้องหาเงินเอง ที่สำคัญต้องมีเป้าเดียวกัน คือเป้าหมายพัฒนาประเทศสู่ไทยแลนด์ 4.0 จากเป้าหมายดังกล่าวจึงต้องเกิดเป็นกระทรวงการอุดมศึกษา ซึ่งจะมาทำหน้าที่วางแผนการผลิต และใช้กำลังคนของประเทศ กระทรวงการอุดมศึกษาที่จะเกิดครั้งนี้เป็นนโยบายรัฐบาลโดยตรง นายกฯ ให้ความสำคัญกับเรื่องวิจัย และนวัตกรรมอย่างมาก ถ้าไม่ทุ่มเทเรื่องอุดมศึกษาจะไม่สำเร็จ ทั้งนี้การดำเนินการต้องเกิดก่อนการเลือกตั้ง คาดว่าพ.ร.บ.การอุดมศึกษาจะเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา(กอปศ.) วันที่ 9 มกราคม 2561 ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เข้าสู่ขั้นตอนของคณะกรรมการกฤษฎีกา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช. ) ใช้เวลา 6-8 เดือน คาดว่ากระบวนการทุกอย่างจะแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายนนี้
“สิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการเพื่อพัฒนาและปลดล็อคปัญหาของอุดมศึกษามี 5 ประเด็นคือ 1 การเตรียมโครงสร้างกำลังคน ทรัพยากรและความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ เพื่อรองรับกระทรวงการอุดมศึกษา ที่จะเป็นองค์กรระดับประเทศในการขับเคลื่อนภาคอุดมศึกษาของชาติ 2. พัฒนายุทศาสตร์และโรดแมปของการอุดมศึกษาของชาติ 20 ปี 3.วางแผนกำลังคนของประเทศ ระยะ 20 ปี 4.พัฒนาระบบวิจัยและนวัตกรรมของการอุดมศึกษาของชาติ และ5.ตอบโจทย์การพัฒนาพื้นที่ ขณะเดียวกัน สกอ.จะต้องทบทวนมาตรฐานหลักสูตรระดับปริญญาตรี โทและเอกใหม่ โดยหลักสูตรใดที่ไม่จำเป็นต้องปิด หลักสูตรต้องมีความยืดหยุ่นมากขึ้น รวมถึงกระบวนการรับทราบของสกอ.จะต้องไปปรับให้เร็วขึ้น ที่สำคัญสกอ.และมหาวิทยาลัยจะต้อง ร่วมมือกัน นอกจากนี้ผมอยากให้คนสกอ.พร้อมที่จะรับการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ "ศ.นพ.อุดมกล่าว .
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก เดลินิวส์ วันพฤหัสบดีที่ 4 มกราคม 2561