ค้นหาทุกอย่างในเว็บครูบ้านนอก :
ชุมชนครู บุคลากรทางการศึกษา และนักเรียน แหล่งความรู้สำหรับครู นักเรียน ข่าวการศึกษา ห้องสมุดความรู้ทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ และความรู้ทั่วไป เผยแพร่ผลงานวิชาการ ที่นี่


ข่าวการศึกษา     ความรู้ทั่วไป     งานราชการ/รัฐวิสาหกิจ/บริการสังคมบทความการศึกษา  ▶ ข่าว/บทความ ▶ หน้าแรก

การศึกษาไทยภายใต้รัฐบาล คสช. 3 ปี ที่วังเวงและเคว้งคว้าง


บทความการศึกษา 3 ม.ค. 2561 เวลา 18:01 น. เปิดอ่าน : 14,411 ครั้ง
Advertisement


Advertisement

การศึกษาไทยภายใต้รัฐบาล คสช. 3 ปี ที่วังเวงและเคว้งคว้าง

การศึกษาไทยภายใต้รัฐบาล คสช. 3 ปี ที่วังเวงและเคว้งคว้าง

ผู้เขียน ศ.พิเศษ ดร. ภาวิช ทองโรจน์

การรัฐประหารทุกครั้งมักจะตามมาด้วยคำถามว่า สิ่งที่เกิดขึ้นต่อมาหลังจากการยึดอำนาจนั้น เกิดประโยชน์ต่อการแก้ปัญหาและพัฒนาประเทศจริงหรือไม่ หรืออย่างที่ตั้งคำถามกันสั้นๆ ว่า ครั้งนี้ *”เสียของ”* หรือไม่

สำหรับการรัฐประหารครั้งล่าสุด เฉพาะด้านการศึกษา คำตอบจากนักการศึกษาหรือสาธารณชน ดูจะออกไปในทางที่เห็นว่า *”เสียของ”* ไม่ว่าจะพิจารณาจากการแก้ไขปัญหา โอกาสที่สูญเสียไป ความก้าวหน้าหรือล้าหลังเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ซึ่งรวมความใน 3 ปีที่ผ่านมาสำหรับการศึกษาไทยดูจะเป็น 3 ปีที่ยังวังเวงและเคว้งคว้าง

 

ความสำคัญที่ถูกมองข้าม และความต่อเนื่องที่ขาดหาย
การศึกษาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ซึ่งเป็นการกำหนดอนาคตและความอยู่รอดของประเทศในสภาวะที่โลกมีการแข่งขันสูง กระแสการปฏิรูปการศึกษาจึงเกิดขึ้นทั่วโลก โดยมีการเปลี่ยนศตวรรษบ่งชี้ถึงอนาคต นอกจากนั้น เมื่อเกิดวิกฤตการณ์ หรือเกิดเงื่อนไขของการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ขึ้นมา หลายประเทศต่างเห็นความสำคัญของการศึกษาว่าจะต้องมีการพัฒนาเพื่อรองรับการฟื้นตัวและป้องกันวิกฤตครั้งใหม่ที่อาจเกิดขึ้นได้อีก เช่น เมื่อเกิดวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ขึ้นในสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลียได้ประกาศการปฏิวัติการศึกษา เพื่อเตรียมประชาชนให้พร้อม หรือในสาระของ “ความฝันของจีน” (จงกั๋วเมิ่ง) ที่เป็นหลักในการพัฒนาจีนเข้าสู่ยุคใหม่ ก็ยกเรื่องการศึกษาขึ้นมาเป็นอันดับแรก รวมทั้งประเทศสหราชอาณาจักรและฟินแลนด์ก็มีการปฏิรูปหลักสูตรการศึกษาครั้งใหญ่ เป็นต้น

สำหรับประเทศไทย กระแสการตื่นตัวเรื่องศตวรรษที่ 21 เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงก่อนการรัฐประหาร มีการวิเคราะห์ถึงจุดอ่อนของการศึกษาไทย เช่นจากการวิจัยของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) หรือ การชี้ประเด็นจาก UNESCO รวมทั้งโดยบุคคลและองค์กรต่างๆ ปัญหาเหล่านั้นผนวกกับกระแสการเปลี่ยนศตวรรษ ถูกนำมาเป็นข้อมูลประกอบการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาที่แปรเป็นการปฏิบัติที่ปรากฏมาเป็นลำดับ แม้ว่าจะสะดุดลงด้วยข้อจำกัดของอายุของรัฐบาล เช่น โครงการเรียนฟรี 15 ปี และการแก้ปัญหาครู ของรัฐบาลประชาธิปัตย์ โครงการพัฒนา ICT เพื่อการศึกษา และโครงการปฏิรูปหลักสูตรและตำราเรียนแห่งชาติ ของรัฐบาลเพื่อไทย เป็นต้น

หลังการรัฐประหารในปี 2557 ท่าทีของประเทศในตอนแรก ดูเหมือนจะให้ความสำคัญต่อการปฏิรูปการศึกษา ดังปรากฏในคำแถลงต่างๆ ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ และรัฐบาลในเวลาต่อมาว่าจะให้การศึกษาเป็นวาระหลักของการปฏิรูปในรอบใหม่นี้ แต่พอเวลาเริ่มเดินหน้า ผู้คนที่เฝ้ารอดูภาคการศึกษากลับพบแต่ความผิดหวังและความน่าเป็นห่วง อันเนื่องมาจากก้าวที่ผิดพลาดที่เกิดขึ้นหลายประการ

เริ่มจากภาพใหญ่ของการจัดการ ถึงวันนี้เราก็ได้พบว่าในเวลา 3 ปี กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)มีการเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีว่าการศธ. ถึง 3 คน และรัฐมนตรีช่วยว่าการศธ.อีก 5 คน มากกว่ารัฐบาลโดยพรรคการเมืองต่างๆ ในยุคเลือกตั้งด้วยซ้ำ ซึ่งในยุคเลือกตั้งการกระทำเช่นนี้ถูกมองว่าเป็นการสมนาคุณทางการเมืองหรือซื้อขายตำแหน่ง ครั้นพอมาเป็นกรณีรัฐบาลอำนาจเต็ม ก็ต้องคิดในใจเอาเองว่า เป็นการสมนาคุณทางการทหารหรือเป็นเพราะว่าเลือกคนทำงานที่ไม่เหมาะสมจึงจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนตัว หรือทั้งสองอย่างผสมกัน ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นก็แสดงว่านายกรัฐมนตรีผู้จัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรี หาได้ตระหนักถึงปัญหาและความล้าหลังของการศึกษาของประเทศ ทั้งยังมองไม่เห็นความเร่งด่วนและความจำเป็นที่จะต้องเร่งแก้ปัญหา มองไม่ออกว่าความอ่อนแอด้านการศึกษาหมายถึงอนาคตอันมืดมนของชาติ จึงไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องจัดสรรมืออาชีพเข้ามาเพื่อเข้ามาดูแลงานอันสำคัญนี้

รัฐมนตรีว่าการศธ.ทั้ง 3 คนต่างไม่มีผลงานในการแก้ปัญหาที่เห็นได้เด่นชัด และยังมีการทิ้งปัญหาเพิ่มเติมไว้ซึ่งจะเป็นภาระต่อไปในภายหน้า เริ่มจากท่านแรกที่ตั้งคณะกรรมการหลายชุดที่ซ้ำซ้อนและไม่มีประโยชน์เนื่องจากแต่ละชุดไม่ได้เสนอนโยบายและแนวทางใหม่ใดๆ ที่ซ้ำร้ายไปกว่านั้น คือแนวทางในการพัฒนาบางอย่างที่ดำเนินอยู่ในรัฐบาลที่ผ่านมากลับสะดุดหยุดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปฏิรูปหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานที่ดำเนินการค้างอยู่ ที่ทั้ง TDRI และนักวิชาการหลายชุดระบุว่าเป็นวิกฤตที่จะต้องแก้อย่างเร่งด่วน

มาถึงรัฐมนตรีท่านที่ 2 ได้ทิ้งผลงานชิ้นโบแดงไว้อย่างน้อย 2 ชิ้น ได้แก่ คำสั่งลดเวลาเรียน และการทลายระบบบริหารการศึกษาส่วนภูมิภาคโดยการรื้อฟื้นระบบศึกษาธิการจังหวัดกลับคืนมา ซึ่งทั้งสองเรื่องยังสร้างความปั่นป่วนมาจนขณะนี้

รัฐมนตรีคนที่ 3 เข้าสู่ตำแหน่งด้วยคำถามของสื่อมวลชนเรื่องความเชื่อด้านลัทธิจิตวิญญาณ และท่ามกลางความวิตกของนักการศึกษาที่กังวลว่าท่านจะทำให้การศึกษาไทยหันไปยึดแนวทางของการศึกษาทางเลือกของโรงเรียนที่ท่านเป็นผู้จัดตั้งขึ้นโดยเงินสนับสนุนจาก ภควัน ศรี สัตยา ไสบาบา ผู้นำทางจิตวิญญาณที่ลือลั่นสนั่นโลกด้วยข้อสงสัยเรื่องอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ ซึ่งโรงเรียนดังกล่าวมีแนวปฏิบัติในการฝึกจิตและการรับอำนาจเร้นลับเช่นพลังจากปิรามิด รัฐมนตรีผู้นี้ยังเปลี่ยนหลักการแจกหนังสือเรียนของรัฐบาลประชาธิปัตย์มาเป็นการให้ยืมใช้เรียนทำให้นักเรียนจะไม่มีตำราเป็นกรรมสิทธิ์เพื่อใช้อ้างอิงในการเรียนขั้นต่อไป และสุดท้ายด้วยวาทะที่ดูจะทำให้คนไทยทั้งหลายสิ้นหวังที่ท่านลั่นว่าการปฏิรูปการศึกษาตามแนวทางของท่านนั้นจะต้องรออีกไม่ต่ำกว่า 35 ปี เป็นผลดังที่บอกต่อคนไทยในการปรับคณะรัฐมนตรีครั้งล่าสุดว่าแม้แต่นายกรัฐมนตรีเองก็เห็นชอบกับสูตร 35 ปีของท่าน

จุดเด่นหนึ่งตั้งแต่เริ่มมีรัฐบาลนี้มา คือการเพียรตั้งคณะกรรมการต่างๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ไล่เริ่มมาจากคณะกรรมการในสภาปฏิรูปแห่งชาติ สภาปฏิรูปประเทศ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ คณะกรรมการที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งที่เรียกหรูว่าซูปเปอร์บอร์ดฯ คณะกรรมการที่รัฐมนตรีแต่งตั้ง คณะกรรมการที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) แต่งตั้ง คณะอนุกรรมการในคณะกรรมการประชารัฐ ฯลฯ ซึ่งคณะเหล่านี้ต่างออกมาทำงานชิ้นเล็กชิ้นน้อยบ้าง ทำๆ หยุดๆ ไม่มีความต่อเนื่องบ้าง และในที่สุดก็ค่อยๆ หายไป ทิ้งความสับสนจากแนวทางอันหลากหลายที่แต่ละชุดเสนอโดยปราศจากบูรณาการทางความคิด และคำตอบที่ลงเอยว่าการปฏิรูปหลักนั้นให้รอคณะกรรมการที่จะมีการแต่งตั้งหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ จนมาล่าสุดจึงเกิดคณะกรรมการอิสระตามรัฐธรรมนูญเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ซึ่งถึงขณะนี้ก็ยังทำงานในลักษณะของการมุ่งจับประเด็นในเรื่องเล็กๆ เป็นเรื่องๆ ยังไม่ได้มีการแตะโครงสร้างใหญ่เพื่อกำหนดภาพรวมที่จะเป็นพิมพ์เขียวเพื่อการปฏิรูปแต่อย่างใด

ข้อกังขาก็คือ สถานการณ์ของการศึกษาไทยมีความยุ่งยากผูกเงื่อนปมจนไม่อาจแก้ไขได้ด้วยวิธีการปกติ จนต้องการอำนาจพิเศษเข้ามาช่วย แต่ในช่วงเวลา 4 ปีที่รัฐบาลมีอำนาจเต็มนั้น เหตุใดจึงไม่ให้มีการขับเคลื่อนการปฏิรูปอย่างเป็นระบบ ทำไมจึงต้องรอให้รัฐธรรมนูญประกาศใช้เสียก่อนซึ่งในที่สุดจะกลับสู่โหมดของการเมืองที่ทำให้การแก้ไขกลับมายากยิ่งขึ้น

 

ก้าวที่ผิดพลาด (บางเรื่อง)
การลดเวลาเรียน
“การลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้” เป็นนโยบายให้โรงเรียนปรับลดชั่วโมงในชั้นเรียนลงโดยให้เลิกเรียนในเวลา 14.00 น. เพื่อให้เด็กนักเรียนผ่อนคลายไม่เคร่งเครียดกับการเรียนมากเกินไป หลักการลดเวลาเรียนเป็นดำริที่ถูกต้อง เพราะเด็กไทยใช้เวลาเรียนในห้องเรียนตามหลักสูตรมากถึงปีละ 1,000-1,200 ชั่วโมง เทียบกับนักเรียนชั้นประถมศึกษาในประเทศที่การศึกษามีคุณภาพทั้งหลายจะใช้เพียง 500-600 ชั่วโมง เวลามากมายนี้ใช้ไปกับการเรียนที่เน้นการท่องจำ ไม่เน้นการใช้ความคิดทั้งในการสร้างสรรค์ วิเคราะห์ และแก้ปัญหาต่างๆ เด็กไทยจึงคิดไม่เป็น นับเป็นความอ่อนด้อยเมื่อเทียบกับเยาวชนในประเทศอื่น เรื่องนี้ได้มีการหยิบยกขึ้นมาตลอดเวลาก่อนการยึดอำนาจ แต่รัฐบาลขณะนั้นไม่บุ่มบ่ามลงไปสั่งให้มีการลดเวลาเรียนลงอย่างปุบปับ แต่มีความเห็นว่าจะต้องทำอย่างเป็นระบบ จึงได้เริ่มกระบวนการปฏิรูปหลักสูตร โดยร่างหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานขึ้นมาใหม่ทั้งหมด เน้นการบูรณาการและปรับองค์ความรู้ให้ทันสมัย หลักสูตรใหม่ที่ร่างเสร็จแล้วกำหนดเวลาในห้องเรียนชั้นประถมศึกษาไว้เพียง 660 ชั่วโมง เวลาในโรงเรียนได้ถูกออกแบบใหม่หมด สร้างความสัมพันธ์ระหว่างเวลาที่ใช้ในห้องเรียนกับนอกห้องเรียน โดยเวลานอกห้องเรียนได้ถูกกำหนดให้จัดกิจกรรมอื่นที่เสริมการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับเนื้อหาในห้องเรียน ซึ่งอาจเป็นกิจกรรมภาคสนาม การศึกษาจากสถานที่และสถานการณ์จริง และที่สำคัญที่สุดได้กำหนดให้นักเรียนต้องทำโครงการซึ่งจะเป็นกระบวนการที่เน้นความคิดสร้างสรรค์ การค้นหาและแก้ปัญหา การสื่อสาร และการทำงานเป็นทีม

เป็นที่น่าเสียดายที่รัฐบาลหลังการยึดอำนาจไม่ได้นำหลักสูตรนี้มาประกาศใช้ หากแต่จู่ๆ ก็มีการสั่งลดฮวบของเวลาในชั้นเรียน พลันที่มีคำสั่ง ความเครียดและระส่ำระสายก็เกิดทั้งระบบการศึกษา เนื่องจากหลักสูตรยังเป็นหลักสูตรเดิม มีเนื้อหาสาระซึ่งสัมพันธ์กับเวลาที่ต้องใช้ถึงเกินพันชั่วโมง ครูจำนวนมากถึงกับมีอาการที่ไปไม่เป็น สถานการณ์จริงที่เกิดขึ้นจึงมีต่างๆ นานา ตั้งแต่ครูประเภทที่หยุดสอนโดยจะจบหรือไม่จบตามเนื้อหาก็ไม่สนใจเพราะไม่รู้จะทำอย่างไร ไปอีกข้างหนึ่งก็จะพบครูที่จำเป็นต้องเลี่ยงไปนัดเด็กสอนเพิ่มเติมนอกเวลาเพราะทำใจไม่ได้ที่สอนเด็กยังไม่จบ ส่วนเวลานอกห้องเรียนหลัง 14.00 น. นั้น เมื่อไม่ได้กำหนดว่าเป็นส่วนของหลักสูตรก็จึงเกิดความหลากหลายของกิจกรรมซึ่งส่วนใหญ่จะไม่เกี่ยวข้องหรือเสริมเพิ่มเติมจากในห้องเรียนเลย

ห้องเรียนที่สับสนอันเนื่องมาจากการลดเวลาเรียนแบบดุ่ยๆ นี้ แม้ขณะนี้ก็ยังเป็นอยู่ทั่วประเทศ

 

 

การเกิดใหม่ของศึกษาธิการจังหวัด
อยู่มาวันหนึ่งมีฟ้าฝ่าเปรี้ยงลงมาในระบบการศึกษาของไทย โดยการใช้อำนาจพิเศษรื้อระบบบริหารการศึกษาส่วนภูมิภาค ให้ยุบอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) จัดให้มีคณะกรรมการการศึกษาจังหวัด (กศจ.) ทำหน้าที่ในการบริหารบุคคล โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน และนำตำแหน่งศึกษาธิการจังหวัดและภาคกลับมา ระบุว่าเพื่อต้องการแก้ปัญหาการทุจริตในการสอบบรรจุครู และเพื่อบูรณาการงานตามแนวคิดแบบ Single command ลดสายการบังคับบัญชาให้สั้นลง รวมทั้งสร้างเอกภาพและความคล่องตัวในการบริหาร

10 เดือนผ่านไป พบโดยทั่วไปว่าปัญหาที่ว่าต้องการจะแก้นั้นกลับยังแก้ไม่ได้ ทั้งยังมีปัญหาใหม่เกิดขึ้นตามมา ประดังกันมาจากหลายมิติ ระบบ single command ที่หวังให้เกิดไม่มีความชัดเจน โครงสร้างเดิมคือเขตพื้นที่การศึกษาก็ยังมีอำนาจหน้าที่อยู่ ทับซ้อนกับอำนาจของศึกษาธิการจังหวัด กศจ.ซึ่งทำหน้าที่บริหารบุคคลแทน อ.ก.ค.ศ. มีองค์ประกอบและโครงสร้างที่ไม่เหมาะสมกับอำนาจหน้าที่ซึ่งก็ยังไม่ชัดเจน และดูจะเป็นแค่การเปลี่ยนจากระบบอุปถัมภ์เก่ามาเป็นชุดใหม่เท่านั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดที่จะต้องรู้เรื่องและมีบทบาทในการบริหารการศึกษาด้วย มีปัญหาในเรื่องภาระหน้าที่อื่นที่มีมากมายอยู่แล้ว และความรู้ที่ไม่เพียงพอสำหรับการบริหารการศึกษา

 

การกระจายอำนาจที่ยังไม่เดินหน้า
ระบบการศึกษาที่ดีต้องมีการกระจายอำนาจให้ชุมชนในพื้นที่เข้ามามีหน้าที่ในการตัดสินใจและการบริหาร ที่ผ่านมาเรามองไม่เห็นการพัฒนาระบบไปในทิศทางดังกล่าว ในทางตรงกันข้าม ศธ.กลับมีขนาดใหญ่ขึ้น คงสถานภาพศูนย์กลางของอำจาจอยู่เช่นเดิม การปรับเปลี่ยนระบบการบริหารส่วนภูมิภาคเช่นที่เกิดขึ้นก็เป็นเพียงการเปลี่ยนฐานอำนาจจากหน่วยงานเดิมมาเป็นระบบที่เกิดใหม่

การกระจายอำนาจที่แท้จริงจะต้องลงไปสู่ระดับโรงเรียนที่ต้องเป็นอิสระ สามารถจัดบริบทของพัฒนาการภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการสถานศึกษา ข้อมูลจากองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาเศรษฐกิจ (OECD) โดยการวิเคราะห์ผลการสอบ PISA พบว่าความเป็นอิสระของสถานศึกษาส่งผลโดยตรงถึงผลสัมฤทธิ์ที่เพิ่มขึ้น นักวิชาการศึกษาไทยก็ได้เรียกร้องเรื่องนี้มาโดยตลอด ซึ่งสอดคล้องกับหลักการโรงเรียนนิติบุคคล ใน พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 แต่ตลอดเวลาที่ผ่านมาศธ. ยังคงจองจำโรงเรียนเอาไว้โดยไม่เคยแสดงความจริงใจในการที่จะกระจายอำนาจ โดยตั้งข้อแม้มาตลอดว่าโรงเรียนไทยยังไม่มีความสามารถที่จะดูแลตัวเองได้ แต่เมื่อไม่นานมานี้ มีข้อเสนอรูปแบบของโรงเรียนนิติบุคคลใหม่ที่ดูจะต่างไปจากหลักการเดิม นั่นคือ การให้ภาคเอกชนเข้ามาช่วยสนับสนุนและดูแลโรงเรียนต่างๆ แนวคิดดังกล่าวแม้จะมีข้อดี แต่ก็ดูเป็นการเลี่ยงไปจากหลักการของโรงเรียนนิติบุคคลเดิม ซึ่งสามารถทำให้เกิดขึ้นได้อยู่แล้วโดยไม่จำเป็นต้องตั้งเงื่อนไขความเกี่ยวข้องของภาคเอกชน

 

กระทรวงอุดมศึกษาที่จะไม่แก้ปัญหาของอุดมศึกษาไทย
10 ปีผ่านไปหลังจากที่มีการยุบรวมทบวงมหาวิทยาลัยมาไว้กับ ศธ. ทางฝ่ายอุดมศึกษาพบว่าการยุบรวมดังกล่าวไม่ได้เป็นประโยชน์ ซ้ำยังกลับทำให้อุดมศึกษาเดินถอยหลัง จึงมีการเคลื่อนไหวเพื่อแยกเอาอุดมศึกษาออกมาตั้งเป็นกระทรวงใหม่ โดยต่อมารัฐบาลได้รับลูกว่าจะให้ กระทรวงอุดมศึกษา เกิดในรัฐบาลนี้ ถึงกับลงทุนจัดให้มีรัฐมนตรีช่วยว่าการศธ.คนหนึ่งเข้ามาขับเคลื่อน

ถ้ามองไปในอีกด้านหนึ่ง ประเทศไทยกำลังมีปัญหาเรื่องการวิจัยซึ่งมีระบบการบริหารงานที่ไม่เป็นเอกภาพและด้อยประสิทธิภาพ อาจารย์มหาวิทยาลัยที่มีหน้าที่หลักด้านการวิจัยกลับอ่อนด้อยทั้งจำนวนผลงานวิจัยและคุณภาพ

นอกจากนั้น ประเทศยังประสบปัญหากำลังคนด้านฝีมือแรงงานระดับอาชีวศึกษาซึ่งตั้งเป้าหมายให้มีสัดส่วนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60 ของผู้สำเร็จการศึกษา แต่ที่ผ่านมาไม่เคยสำเร็จ ผู้เข้าเรียนอาชีวศึกษายังมีน้อยกว่าร้อยละ 30 ปัญหาเรื่องความนิยมและการแย่งนักศึกษากันระหว่างการศึกษาสองระบบเป็นมานานและยังจะเป็นอยู่ต่อไปตราบเท่าที่ยังไม่มีระบบจัดการที่ดีกว่าเข้ามาดูแล

อุดมศึกษาและอาชีวศึกษาเป็นการศึกษาที่ต่อยอดจาการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อพัฒนาความรู้และทักษะคนเข้าสู่วิชาชีพและแรงงานภาคต่างๆ หมายความว่าการศึกษาทั้งสองระบบนั้น แท้ที่จริงแล้วมีบทบาทหน้าที่เดียวกัน แต่หากนำมาแยกกันจัดการอย่างที่เป็นอยู่ ประเทศก็จะประสบปัญหาเช่นนี้เรื่อยไป ซึ่งไม่มีทางที่จะแก้ได้

ดังนั้น การผลักดันให้เกิดกระทรวงอุดมศึกษาเช่นที่ดำเนินการอยู่โดยการวางหลักการเพียงแยกระบบการดูแลมหาวิทยาลัยออกมาเป็นเอกเทศนั้น จะไม่สามารถตอบโจทย์และแก้ปัญหาในภาพใหญ่ของประเทศได้ หากกฎหมายว่าด้วยกระทรวงใหม่ไม่ได้นำเรื่องการวิจัยเข้ามาดูแลด้วย การวิจัยของประเทศก็จะอ่อนแอต่อไป และหากยังมีการแยกบริหารอาชีวศึกษากับอุดมศึกษาอยู่เช่นนี้ การพัฒนากำลังคนในภาพรวมของประเทศก็จะไม่มีวันประสบผลสำเร็จ หรือแม้แต่ปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างมหาวิทยาลัยเล็กกับมหาวิทยาลัยใหญ่ รัฐกับเอกชน ก็จะไม่ได้แก้ไข

ดังนั้น กระทรวงอุดมศึกษาที่จะตอบโจทย์สำหรับประเทศ จำเป็นที่จะต้องรวมเอาการวิจัยและการอาชีวศึกษาเข้ามาบริหารภายใต้กระทรวงเดียวกัน ดังที่เกิดขึ้นแล้วในหลายประเทศ เช่น กระทรวงใหม่ของ สหราชอาณาจักรที่เดิมเคยเรียกว่า Department of Innovation, University and Skills ซึ่งดูแลทั้งมหาวิทยาลัย อาชีวศึกษา และนวัตกรรมซึ่งได้แก่การวิจัย และในปัจจุบันได้มีการปรับโครงสร้างขึ้นไปอีกระดับหนึ่งโดยการไปรวมเป็นกระทรวงเดียวกันกับกระทรวงการค้า เป็น Department of Business, Innovation and Skills

ไม่เช่นนั้น การตั้งกระทรวงใหม่ในครั้งนี้จะไม่ตอบโจทย์ใดๆ เลย

ขอบคุณที่มาเนื้อหาจาก มติชนออนไลน์ วันที่ 3 มกราคม 2561

 


การศึกษาไทยภายใต้รัฐบาล คสช. 3 ปี ที่วังเวงและเคว้งคว้างการศึกษาไทยภายใต้รัฐบาลคสช.3ปีที่วังเวงและเคว้งคว้าง

Advertisement

≡ เรื่องอื่นๆ ที่น่าอ่าน ≡

เรื่องที่คุณครูต้องอ่าน

เรื่องที่คุณครูต้องอ่าน


เปิดอ่าน 13,085 ครั้ง
การศึกษาไทย 2.0

การศึกษาไทย 2.0


เปิดอ่าน 13,025 ครั้ง
ความคิดสร้างสรรค์ (จบ)

ความคิดสร้างสรรค์ (จบ)


เปิดอ่าน 7,649 ครั้ง
จัดอันดับทุนมนุษย์

จัดอันดับทุนมนุษย์


เปิดอ่าน 8,079 ครั้ง
ระบบการศึกษาไม่สมดุล (2)

ระบบการศึกษาไม่สมดุล (2)


เปิดอ่าน 8,276 ครั้ง

:: เรื่องปักหมุด ::

ปรับการเรียนแนวใหม่สู้ "โอเน็ต" ให้ได้ผล

ปรับการเรียนแนวใหม่สู้ "โอเน็ต" ให้ได้ผล

เปิดอ่าน 10,951 ☕ คลิกอ่านเลย

Advertisement

≡ เรื่องน่าสนใจในหมวดหมู่นี้ ≡
สแกน...ลดเวลาเรียน "3 สัปดาห์"บรรลุเป้า?
สแกน...ลดเวลาเรียน "3 สัปดาห์"บรรลุเป้า?
เปิดอ่าน 10,246 ☕ คลิกอ่านเลย

ซุปเปอร์บอร์ดจะเป็นอัศวินม้าขาว ทางการศึกษาไทยได้หรือ
ซุปเปอร์บอร์ดจะเป็นอัศวินม้าขาว ทางการศึกษาไทยได้หรือ
เปิดอ่าน 10,885 ☕ คลิกอ่านเลย

หลักเกณฑ์ฯ เลื่อนวิทยฐานะครูใหม่ : ยิ่งแก้ ยิ่งวน
หลักเกณฑ์ฯ เลื่อนวิทยฐานะครูใหม่ : ยิ่งแก้ ยิ่งวน
เปิดอ่าน 12,962 ☕ คลิกอ่านเลย

"อยากไปโรงเรียน" โจทย์ใหญ่? พ่อแม่ช่วยลูกได้..ด้วย "สนุก"
"อยากไปโรงเรียน" โจทย์ใหญ่? พ่อแม่ช่วยลูกได้..ด้วย "สนุก"
เปิดอ่าน 9,920 ☕ คลิกอ่านเลย

การศึกษา สู่สนามแข่งขันเวทีอาเซียน ให้จับตาเวียดนาม
การศึกษา สู่สนามแข่งขันเวทีอาเซียน ให้จับตาเวียดนาม
เปิดอ่าน 10,560 ☕ คลิกอ่านเลย

ปฏิรูปการศึกษาส่วนภูมิภาค 6 เดือน กศจ.ไปต่ออย่างไร? โดย อดิศร เนาวนนท์
ปฏิรูปการศึกษาส่วนภูมิภาค 6 เดือน กศจ.ไปต่ออย่างไร? โดย อดิศร เนาวนนท์
เปิดอ่าน 22,531 ☕ คลิกอ่านเลย

≡ เรื่องน่าอ่าน/สาระน่ารู้ ≡

"นอนน้อย" ทำสมองฝ่อ จริงหรือ?!
"นอนน้อย" ทำสมองฝ่อ จริงหรือ?!
เปิดอ่าน 14,821 ครั้ง

แนวทางการแก้ปัญหาผลกระทบภาวะถดถอยทางการเรียน ด้านการอ่านการเขียนภาษาไทย
แนวทางการแก้ปัญหาผลกระทบภาวะถดถอยทางการเรียน ด้านการอ่านการเขียนภาษาไทย
เปิดอ่าน 8,349 ครั้ง

พืชพรรณธรรมชาติ ที่ดีต่อผิวพรรณ
พืชพรรณธรรมชาติ ที่ดีต่อผิวพรรณ
เปิดอ่าน 12,560 ครั้ง

ดื่มน้ำจากขวดพลาสติก ระวังสารบีพีเอปนเปื้อน
ดื่มน้ำจากขวดพลาสติก ระวังสารบีพีเอปนเปื้อน
เปิดอ่าน 15,110 ครั้ง

ข้อดี เคี้ยวช้าลง เสริมสุขภาพให้ดีขึ้นได้
ข้อดี เคี้ยวช้าลง เสริมสุขภาพให้ดีขึ้นได้
เปิดอ่าน 13,211 ครั้ง

เกมส์ รวมเกมส์สนุกๆ มากมาย
สนามเด็กเล่น

แหล่งรวมเกมส์ เกมส์ให้เล่นมากมาย ศูนย์รวมเกมส์สนุกๆ เกมส์ความรู้ เกมส์ลับสมอง เกมส์ประลองยุทธ แหล่งรวบรวมข้อมูล เกมส์ เกมส์ออนไลน์ เกมส์มันๆ เกมส์ตัดผม ไว้มากมายที่นี่ ให้เด็กๆได้เลือกเล่นมากมาย คลิกเลย

 
หมวดหมู่เนื้อหา
เนื้อหา แยกตามหมวดหมู่ สามารถเลืออ่านได้ตามหมวดหมู่ที่นี่


· Technology
· บทความเทคโนโลยีการศึกษา
· e-Learning
· Graphics & Multimedia
· OpenSource & Freeware
· ซอฟต์แวร์แนะนำ
· การถ่ายภาพ
· Hot Issue
· Research Library
· Questions in ETC
· แวดวงนักเทคโนฯ

· ความรู้ทั่วไป
· คณิตศาสตร์
· วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
· ภาษาต่างประเทศ
· ภาษาไทย
· สุขศึกษาและพลศึกษา
· สังคมศึกษา ศาสนาฯ
· ศิลปศึกษาและดนตรี
· การงานอาชีพ

· ข่าวการศึกษา
· ข่าวตามกระแสสังคม
· งาน/บริการสังคม
· คลิปวิดีโอยอดนิยม
· เกมส์
· เกมส์ฝึกสมอง

· ทฤษฎีทางการศึกษา
· บทความการศึกษา
· การวิจัยทางการศึกษา
· คุณครูควรรู้ไว้
· เตรียมประเมินวิทยฐานะ
· ผลงานวิชาการเล่มเต็ม
· เครื่องมือสำหรับครู

ครูบ้านนอกดอทคอม

เว็บไซต์เพื่อครู ข่าวการศึกษา ความรู้ การศึกษาไทย

      kroobannok.com

© 2000-2020 Kroobannok.com  
All rights reserved.


Design by : kroobannok.com


ครูบ้านนอกดอทคอม
การจัดอันดับของ Truehits Web Directory

วิธีนำแบนเนอร์ของครูบ้านนอก.คอมไปแปะในเว็บท่าน บันทึกภาพแบนเนอร์นี้และลิงค์มาที่เราครับ (มีแบนเนอร์ 2 แบบ)
 

ครูบ้านนอกดอทคอม เว็บไซต์ของครูตัวเล็กๆ คนหนึ่ง ที่หวังเพียง ใช้เป็นช่องทางในการสื่อสาร แลกเปลี่ยน เพิ่มพูนความรู้ และให้ข่าวสาร ที่ทันสมัยต่อเหตุการณ์แก่คุณครู ผู้ปฏิบัติงานในทุกพื้นที่ของประเทศไทย เพื่อความเจริญงอกงามในปัญญา และเจริญก้าวหน้าในวิชาชีพ

เว็บนี้ถือกำเนิดเมื่อ 5 มกราคม 2548

Email : kornkham@hotmail.com
Tel : 096-7158383

สนใจสนับสนุนเรา โดยลงโฆษณา
คลิกดูรายละเอียดที่นี่ครับ