คณะกรรมการอิสระฯ ถก แนวทางปฎิรูปการศึกษา ดึง ภาคประชาสังคมช่วยขับเคลื่อนพัฒนาคุณภาพการศึกษาในรูปแบบสมัชชาการศึกษา เล็งเขียนการมีสมัชชาการศึกษาใส่ไว้ในร่างพ.ร.บ.การศึกษาชาติ ด้วย
วันนี้ (3 ม.ค.) ศ.นพ.จรัส สุวรรณเวลา ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อปฎิรูปการศึกษา (กปอศ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการอิสระฯ ว่า ที่ประชุมได้หารือถึงการเสนอบทบาทและรูปแบบของภาคประชาสังคมระดับจังหวัดในการขับเคลื่อนการปฎิรูปการศึกษาของ นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ อดีต รมช.สาธารณสุข ที่ได้รวบรวมข้อมูลว่า ขณะนี้มีการรวมตัวกันอย่างไม่เป็นทางการในระดับพื้นที่ของกลุ่มโรงเรียน ชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เพื่อช่วยกันพัฒนาคุณภาพการศึกษา อีกทั้งรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็ยังระบุไว้ด้วยว่า การพัฒนาคุณภาพการศึกษาจะต้องมีบทบาทของภาคประชาชนให้เข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งที่ประชุมมีความเห็นร่วมกับข้อเสนอดังกล่าวที่อยากให้ภาคประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา เนื่องจากที่ผ่านมาการปฎิรูปการศึกษามีแต่กลไลภาครัฐที่เข้ามาช่วยดำเนินการเท่านั้น ต่อมาภายหลังถึงจะให้ภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทในการจัดการศึกษาแต่ก็ยังมีข้อจำกัดในส่วนของภาคเอกชน ดังนั้นเพื่อให้การปฎิรูปการศึกษาประสบความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมเราจะต้องมีภาคประชาสังคมในรูปแบบสมัชชาการศึกษาเกิดขึ้น
ประธานคณะกรรมการอิสระฯ กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้การมีสมัชชาการศึกษานั้น จะต้องมีความหลากหลายเน้นการกระจายอำนาจไปยังส่วนภูมิภาค ซึ่งผู้ปกครองจะต้องมีบทบาทสำคัญที่จะต้องช่วยปฎิรูปการศึกษาด้วยไม่ใช่แค่ภาครัฐอย่างเดียว โดยการสร้างกลไกการจัดการและเวทีบูรณาการของจังหวัด พร้อมกับพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศเพื่อการพัฒนาเด็ก เพื่อช่วยชี้ปัญหาจัดลำดับความสำคัญและติดตามความก้าวหน้าได้อย่างตรงจุด รวมถึงกำหนดเป้าหมายและแผนปฎิรูปการศึกษาจังหวัดและรณรงค์ขับเคลื่อน เพื่อให้เกิดเป้าหมายร่วมที่เหมาะสมกับพื้นที่ อย่างไรก็ตามจะมีการบรรจุเรื่องสมัชชาการศึกษาโดยภาคประชาสังคมใส่ไว้ในร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ..ด้วย แต่จะเป็นในรูปแบบใดนั้นจะวางแนวทางหารือร่วมกันอีกครั้ง
ด้าน ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) กล่าวว่า สำหรับการจัดสมัชชาการศึกษานั้นถือว่ามีกฎหมายของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)รองรับไว้อยู่แล้วในการรวมตัวเป็นรูปแบบสมาคม มูลนิธิ แต่การเกิดการรวมตัวของภาคประชาชนให้เป็นสมัชชาการศึกษาและเกิดผลในทางปฎิบัตินั้นจะมีตัวเชื่อมใดได้บ้างก็ต้องมาหาแนวทางร่วมกัน อีกทั้งบทบาทของสมัชชาการศึกษาจะเข้ามาช่วยปฎิรูปการศึกษาอย่างไร เช่น การติดตามประเมินผล หรือการช่วยกำหนดนโยบาย เป็นต้น ทั้งนี้ที่ประชุมจึงมอบเป็นการบ้านให้ นพ.สมศักดิ์ ไปคิดว่าเมื่อเป็นสมัชชาการศึกษาเรื่องไหนควรทำหรือไม่ควรทำ หรือจะเป็นองค์กรที่ไม่เป็นทางการมาช่วยปฎิรูปการศึกษา รวมถึงบทบาทในระดับพื้นที่ควรเป็นแบบไหน
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก เดลินิวส์ วันพุธที่ 3 มกราคม 2561