เลขาธิการ กพฐ. เผย แนวปฎิบัติลดการบ้านนักเรียน อิงผลงานวิจัยของสำนักวิชาการฯของสพฐ.ปี 47 ชี้ การบ้านของเด็กโดยเฉพาะเด็กเล็ก หากเกิน 1 ชั่วโมงเด็กจะเกิดความเครียด
วันนี้ (26 ธ.ค.) นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวถึงกรณีสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ออกแนวปฏิบัติลดการบ้านของนักเรียนว่า แนวปฏิบัติดังกล่าวเป็นข้อเสนอของสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สพฐ. สืบเนื่องจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้แสดงความห่วงใยการที่ครูส่วนหนึ่งให้การบ้านนักเรียนมากเกินไป จนทำให้เด็กเกิดความเครียดจึงมอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการหาแนวทางลดการบ้านนักเรียน ทางสำนักวิชาการฯจึงได้นำผลการวิจัยเรื่องการให้การบ้าน ที่ได้ดำเนินการวิจัยมาตั้งแต่ปี 2547 มาวิเคราะห์ เห็นว่าสามารถนำมาใช้ได้อยู่ โดยมีเอกสารการวิจัยยืนยันว่าการทำการบ้านของเด็กโดยเฉพาะเด็กเล็ก หากเกิน 1 ชั่วโมงเด็กจะเกิดความเครียด จึงกำหนดเวลาที่ใช้ในการทำการบ้านแต่ละวัน ดังนี้ ป.1-3 ประมาณ 30 นาทีไม่เกิน 1 ชั่วโมง ป.4-6 ประมาณ 1 ชั่วโมงไม่เกิน 1 ชั่วโมง 30 นาที ขณะที่เด็กโต ม.1-6 ไม่เกิน 2 ชั่วโมง
เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อไปว่า ส่วนที่มีครูส่วนหนึ่งกังวลว่าการกำหนดเวลาดังกล่าว หากครูไม่ให้การบ้านจะผิดหรือไม่นั้น เรื่องนี้ สพฐ.ได้ให้สถานศึกษาวางแผนร่วมกับครูผู้สอน โดยคำนึงถึงความเหมาะสมกับวัยและปริมาณการบ้าน ซึ่งเวลาที่กำหนดไว้เพื่อให้เป็นแนวปฏิบัติว่าถ้าจะให้การบ้าน เวลาที่เด็กต้องใช้ก็ไม่ควรเกินนี้เพราะจะไม่เกิดผล ซึ่วตนได้ทำความเข้าใจกับผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ทั่วประเทศ ในการประชุมผ่านระบบทางไกล รายการ “พุธเช้า ข่าว สพฐ.”ไปแล้ว พร้อมทั้งได้สั่งการให้ ผอ.สพท.กำชับผู้บริหารสถานศึกษาช่วยกำกับ ติดตาม การให้การบ้านของครู โดยตั้งเป้าลดการให้การบ้านในทันที ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นอีกหนึ่งของขวัญปีใหม่ให้กับเด็กไทย
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก เดลินิวส์ วันอังคารที่ 26 ธันวาคม 2560 เวลา 18.17 น.