กอปศ.ยกร่างพ.ร.บ.พ.ร.บ.การปฐมวัยแห่งชาติ ผุดคณะกรรมการ-ตั้งสำนักงานคณะกรรมการการปฐมวัยแห่งชาติ ดูแลเด็กเล็กทุกคนบนแผ่นดินไทย ทั้งที่มีสัญชาติไทย และไม่ได้สัญชาติไทย
วันนี้ (26 ธ.ค.) ศ.นพ.จรัส สุวรรณเวลา ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการศึกษา (กอปศ.) เปิดเผยภายหลังการประชุม กอปศ.ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาการจัดทำร่าง พ.ร.บ.การปฐมวัยแห่งชาติ ซึ่งหลักใหญ่ของ ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ คือ จะมีการจัดตั้งคณะกรรมการการปฐมวัยแห่งชาติ และ สำนักงานคณะกรรมการการปฐมวัยแห่งชาติ เป็นตัวหลักในการขับเคลื่อนงาน เพราะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายส่วน ทั้ง กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ ) กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการพัฒนาความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีกลไกกลางคล้ายกับซูเปอร์บอร์ดเพื่อเป็นแกนหลักในการดำเนินงาน ส่วนจะขึ้นอยู่กับสังกัดใดนั้นยังไม่ได้ข้อสรุป
"ปัจจุบันมีคณะกรรมการการการพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ ซึ่งมี พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน แต่คณะกรรมการฯชุดนี้จะหมดอายุไปพร้อมกับรัฐบาล แต่การกำหนดคณะกรรมการฯไว้ในกฎหมายจะทำให้การทำงานเกี่ยวกับเรื่องนี้มีความยั่งยืน ทั้งนี้ เป็นไปได้ที่จะให้การตั้งคณะกรรมการปฐมวัยฯชุดนี้ คือ ให้อยู่ในกำกับดูแลของสำนักนายกรัฐมนตรี และมีความเป็นไปได้ที่จะใช้เงินส่วนหนึ่งจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ในการดูแลบริหารงาน” ศ.นพ.จรัส กล่าวและว่า ที่ผ่านมามีงานวิจัยระดับนานาชาติที่ระบุ ว่า การลงทุนกับเด็กเล็กให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่ากว่าการลงทุนกับผู้ใหญ่ เพราะเป็นการวางรากฐานที่สำคัญในการพัฒนาประเทศ ขณะเดียวกันรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 กำหนดให้รัฐดูแลทั้งเด็กสัญชาติไทย เด็กที่เกิดในประเทศไทย แต่ไม่ได้สัญชาติไทย เด็กที่เกิดชายแดนไทย แต่ไม่ได้สัญชาติไทย อย่างไรก็ตามการให้ทุนต่างๆ จะเน้นให้ความช่วยเหลือเด็กที่ได้สัญชาติไทยก่อน โดยการดูแลเด็กเล็กต้องดูเรื่องความเหลื่อมล้ำ คุณภาพการดูแล ความหลากหลายทางสังคมที่อาจเป็นปัญหาสำหรับเด็ก ซึ่งไม่สามารถแก้ไขโดยปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติได้ ต้องวางระบบ
ด้าน ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) กล่าวว่า หลังจากนี้จะต้องไปรับฟังความคิดเห็น และคาดว่าจะนำร่าง พ.ร.บ.ฯเข้าสู่การพิจารณาของรัฐบาลได้ภายในเดือนพฤษภาคม 2561 ทั้งนี้ การจัดทำร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฯที่เด็กไทยทุกคนตั้งแต่อายุ 3 ปี ได้รับการศึกษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ส่วนเด็กที่อายุต่ำกว่านี้จะได้รับการดูแลและพัฒนา ส่วนเด็กต่างชาติ การดูแลจะเป็นไปตาม อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ซึ่งเป็นสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่ได้ รับความเห็นชอบมากที่สุดในโลกของ Unicef พ.ศ.2535
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก เดลินิวส์ วันอังคารที่ 26 ธันวาคม 2560 เวลา 14.38 น.