“สสค.” หนุน “สุรินทร์” จัดการศึกษาเพื่ออาชีพ “เก่งดีมีงานทำ” รับไทยแลนด์ 4.0
เพราะการพัฒนา “คน” คือหัวใจสำคัญที่สุดของการพัฒนา “ชาติ” โดยเฉพาะการพัฒนากำลังคนให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ในการพัฒนาประเทศ ด้วยการเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ ให้กับเด็กและเยาวชนในการก้าวเข้าสู่โลกของการทำงานและการประกอบอาชีพที่สอดคล้องกับตลาดแรงงาน ทิศทางของเศรษฐกิจ การพัฒนาในระดับจังหวัดและในระดับประเทศ
“จังหวัดสุรินทร์” เป็น 1 ใน 10 จังหวัดนำร่องการจัดการศึกษาเพื่ออาชีพ ที่ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา (ตาก) โดยการสนับสนุนของ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้ดำเนิน “โครงการปฏิรูปการเรียนรู้เพื่อสร้างความพร้อมในการประกอบอาชีพแก่เยาวชนระดับจังหวัด” จนเกิดเป็นวิสัยทัศน์ “เก่ง ดี มีงานทำ” และ 3 ยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนเพื่อเตรียมพร้อมเด็กและเยาวชนให้มีทักษะอาชีพที่สอดคล้องกับโครงสร้างทางเศรษฐกิจของจังหวัด และการพัฒนาในระดับประเทศตามนโยบายและยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 ที่ประกอบไปด้วย 1.การจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะอาชีพ 2.การจัดฝึกอบรมทักษะอาชีพ และ 3.การสร้างแหล่งเรียนรู้ต้นแบบด้านอาชีพอย่างครบวงจร
จนเป็นที่มาของการจัดงาน “เปิดโลกการเรียนรู้เพื่ออาชีพจังหวัดสุรินทร์” ขึ้นเป็นครั้งแรกของจังหวัดภายใต้ความร่วมมือของ สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (สบร.) องค์การบริหารจังหวัดสุรินทร์ คณะกรรมการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ สมัชชาการศึกษาจังหวัดสุรินทร์ และ กิจการเพื่อสังคม A-chieve เพื่อปลูกฝังปรับเปลี่ยนทัศนคติและมุมมองต่อการศึกษา และสร้างเข็มทิศชีวิตในการเรียนรู้เพื่อมุ่งสู่อาชีพที่ใช่และสอดคล้องกับความถนัดให้เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชนรวมไปถึงผู้ปกครองในจังหวัด
พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลให้ความสำคัญสูงสุดกับการพัฒนาคนอันเป็นทรัพยากรที่สำคัญของการพัฒนาชาติ จึงมีนโยบายให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องบูรณาการการศึกษาและพัฒนาคน โดยมุ่งให้เกิดการเตรียมความพร้อมของเยาวชนให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน และความต้องการของท้องถิ่น เน้นการสร้างคนให้มีความสามารถ มีทักษะ และเจตคติที่ดีต่อการทำงาน ด้วยการส่งเสริมให้เยาวชนได้เตรียมความพร้อมด้านอาชีพ ซึ่งการที่จะขับเคลื่อนในเรื่องนี้ให้ประสบความสำเร็จ ควรเริ่มจากท้องถิ่น เนื่องจากแต่ละพื้นที่มีบริบทที่แตกต่างหลากหลาย มีต้นทุนทรัพยากรที่แตกต่างกัน ส่งผลให้ความต้องการแรงงานย่อมแตกต่างกันไปด้วยโดยแต่ละจังหวัดสามารถกำหนดทิศทางการศึกษาให้ลูกหลานของตนเองได้
“จังหวัดสุรินทร์ก็มีทิศทางในการพัฒนาของตนเองที่ชัดเจน โดยในปีที่ผ่านมา สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน หรือ สสค. ได้ร่วมกับ กศจ. และหลายหน่วยงานของจังหวัดขับเคลื่อนงานสำคัญๆ ได้แก่ การวิจัยข้อมูลสถานการณ์ตลาดแรงงาน 18 กลุ่มจังหวัด ทั้งด้านแนวโน้มอาชีพที่กำลังขยายตัว และทักษะที่นายจ้างต้องการ พัฒนาระบบการจัดการศึกษาเพื่ออาชีพระดับจังหวัด และพัฒนาแผนการเรียนรู้เตรียมอาชีพเพื่อพัฒนาผู้เรียนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา โดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์ ได้ต่อยอดงานวิชาการที่ผ่านมา โดยร่วมมือกับสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) หรือ สบร. ในการติดตั้ง “ศูนย์ความรู้กินได้” ซึ่งจะเป็นแหล่งเรียนรู้ในการพัฒนาบุคลากรของจังหวัด ให้มีความรู้และความคิดสร้างสรรค์ในการประกอบอาชีพ ซนอกจากนี้การจัดงาน เปิดโลกการเรียนรู้สู่อาชีพสุรินทร์ ยังจะช่วยเปิดโลกของการศึกษาและอาชีพให้แก่นักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นเข้าถึงความรู้ด้านสถานการณ์ตลาดแรงงาน เพื่อใช้ในการวางแผนอนาคต ประกอบการตัดสินใจเลือกเส้นทางการเรียนและการประกอบอาชีพ และเชื่อมั่นว่าจะทำให้เด็กและเยาวชนของเรามีทักษะและความสามารถเข้าสู่อาชีพที่รองรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ในอนาคต” รองนายกรัฐมนตรีระบุ
นายไกรศักดิ์ วรทัต ปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์ กล่าวว่า การจัดงาน “เปิดโลกการเรียนรู้สู่อาชีพจังหวัดสุรินทร์” ประกอบไปด้วยกิจกรรมหลัก 2 กิจกรรมคือ “เวทีเปิดโลกอาชีพ” และ “Mini-exhibition” ที่ได้เชิญโดยวิทยากรต้นแบบจากกลุ่มอาชีพต่างๆ มาร่วมกันถ่ายทอดความรู้และสร้างแรงบันดาลใจในการศึกษาและการทำงานให้กับเด็กและเยาวชนในจังหวัด รวมถึงนิทรรศการและ Workshop การประกอบอาชีพต่างๆ ที่สอดคล้องกับบริบทในด้านต่างๆ ทั้งการเกษตร ศิลปหัตถกรรม ช่างกลการเกษตร ซี่งจะทำให้นักเรียนมัธยมศึกษาศึกษาตอนต้นในจังหวัดสุรินทร์จำนวนมากกว่า 2,000 คนได้รับการแนะแนว ค้นหาตัวเองพบ และมีข้อมูลในการก้าวไปสู่อาชีพที่ใช่ ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายชีวิตและความถนัดของตนเอง และโลกของการทำงานที่เป็นจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตลาดแรงงานในระดับท้องถิ่น ในระดับจังหวัด หรือในระดับประเทศ
“การจัดการศึกษาและหลักสูตรต่างๆ ที่มาจากส่วนกลางนั้น วันนี้ดูเหมือนว่าจะไม่สอดคล้องกับสภาพภูมิสังคมของพื้นที่ๆ มีสภาพปัญหาและความต้องการที่แตกต่างกัน ทั้งในเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ สังคม และประเพณี ซึ่งการศึกษาควรที่จะต้องออกแบบให้สอดคล้องกับสิ่งเหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันที่การศึกษาไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องการศึกษาเพื่ออาชีพ ทั้งๆ ที่สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่จำเป็นมาก จากข้อมูลที่ สสค. ทำไว้จะเห็นได้ชัดเจนว่ามีเด็กที่จบมหาวิทยาลัยแล้วตกงานจำนวนมาก ในขณะที่ผู้ที่เรียนสายอาชีวะแทบจะไม่ตกงานเลย ฉะนั้นถ้าเด็กคนไหนที่ไม่มีโอกาส ไม่มีศักยภาพพอในการเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น หรือมีต้นทุนแค่เรียนชั้นมัธยมศึกษาต้น ทำยังไงเมื่อเขาออกไปสู่ตลาดแรงงานแล้วเขาจะมีทักษะอาชีพ เพราะฉะนั้นจังหวัดสุรินท์จึงต้องมาทำงานทางด้านการจัดสร้างหลักสูตรทางด้านอาชีพ โดยเน้นอาชีพที่สอดคล้องกับบริบทต้นทุน และโครงสร้างทางเศรษฐกิจของจังหวัด เพื่อให้มีพื้นฐานทักษะอาชีพที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงานได้เมื่อเรียนจบ” นายไกรศักดิ์กล่าว
“ซึ่งสิ่งที่เราหวังมากที่สุดก็คือทำอย่างไรที่จะจุดประกายความคิดให้กับพ่อแม่ผู้ปกครอง ให้กับครูแนะแนวและเด็กๆ ของเราเห็นว่า ค่านิยมที่ให้เรียนสูงๆ จบไปเป็นเจ้าคนนายคนนั้น เกิดขึ้นได้ยากแล้วในปัจจจุบัน หรือมีไม่ถึงร้อยละ 5 ดังนั้นทำอย่างไรให้เด็กที่ไม่มีศักยภาพที่จะก้าวขึ้นไปตรงนั้น ให้หันมาสนใจเรื่องการศึกษาเพื่อการมีงานทำ โดยเฉพาะการศึกษาในสายอาชีวะศึกษา ซึ่งการจัดงานในครั้งนี้เชื่อว่าจะทำให้เด็กสุรินทร์จะได้มองเห็นตัวเอง พ่อแม่ผู้ปกครองก็จะได้เห็นทางออกให้กับลูกหลาน ครูแนะแนวก็จะมีความมั่นในในการแนะนำลูกศิษย์ของตนเองในเรื่องอาชีพมากยิ่งขึ้น ซึ่งตอนนี้ก็เริ่มมีสถานศึกษาหลายแห่งในจังหวัดสุรินทร์ที่เห็นด้วยกับการทำงานของเรา โดยเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับโจทย์ของการศึกษาในเชิงพื้นที่มากกว่าที่โจทย์จะไปแข่งขันในเรื่องเรื่องของคะแนนต่างๆ เพิ่มมากขึ้น” ปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์ ระบุ
นายพัฒนะพงษ์ สุขมะดัน ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายบริหาร สสค. เปิดเผยว่า จังหวัดสุรินทร์ เป็น 1 ใน 10 จังหวัดนำร่องการจัดการศึกษาเพื่ออาชีพ ที่ สสค. ได้เข้าไปสนับสนุนการพัฒนาองค์ความรู้ด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อให้แต่ละจังหวัดสามารถออกแบบกระบวนการทำงานเพื่อพัฒนากำลังคนของจังหวัดหรือทุนมนุษย์ของตนเองให้มีศักยภาพและความพร้อมในด้านต่างๆ เพื่อรองรับทิศทางการพัฒนาของจังหวัด และทิศทางการพัฒนาประเทศตามยุทธศาสตร์ Thailand Economy 4.0
“ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ของจังหวัดสุรินทร์ ภายในระยะเวลาไม่ถึง 3 ปี ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงที่เด่นชัด โดยสามารถค้นพบเด็กและเยาวชนที่หลุดออกจากระบบการศึกษากว่า 1 หมื่นคน และในจำนวนนี้สามารถติดตามช่วยเหลือให้กลับเข้าสู่การศึกษาจำนวน 734 คน โดยแบ่งเป็น 447 คน สามารถกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาได้ และ 287 คน ได้รับการส่งต่อเพื่อฝึกทักษะอาชีพที่ตนเองถนัดและสนใจในสาขาต่างๆ อาทิ ช่างยนต์ ช่างไฟฟ้า ช่างตัดผมฯลฯ เพื่อให้มีทักษะอาชีพและเกิดสัมมาชีพในพื้นที่ รวมไปถึงยังมีการทำงานร่วมกับสถานศึกษาต่างๆ ในพื้นที่นำร่องหาแรวทางการพัฒนาทักษะด้านอาชีพเกษตรผสมผสานที่สอดคล้องกับเศรษฐกิจและภูมิสังคมของจังหวัดให้แก่นักเรียนระดับมัธยมศึกษา ใน 5 โรงเรียนจำนวน 1,418 คน เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับเด็กและเยาวชนในการออกไปประกอบอาชีพได้ภายหลังจบการศึกษา” นายพัฒนพงษ์ ระบุ
จังหวัดสุรินทร์จึงเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของการใช้การจัดการศึกษาเพื่อพัฒนากำลังคนในระดับพื้นที่ ให้สามารถก้าวไปในทิศทางที่เหมาะสมกับตนเอง ถือเป็นอีกหนึ่งแนวทางสนับสนุนการปฏิรูปการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นในจังหวัด เป็นการน้อมนำหลักการทรงงานของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ว่า “คิดใหญ่ ทำเล็ก”ที่สำเร็จได้จริง เกิดผลตรงไปสู่ “คน” ซึ่งถือเป็น “จุดคานงัด” ที่สำคัญที่สุดในการพัฒนาประเทศยุคศตวรรษที่ 21.