สพฐ.ชงปรับวิธีจัดสรรเงินอุดหนุนรายหัว แยกค่าสาธารณูปโภคออกต่างหาก หวังให้งบฯพัฒนาถึงเด็กจริง ๆ
วันนี้(14 ธ.ค.) นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ตนได้หารือร่วมกับผู้บริหาร ศธ. เกี่ยวกับการบริหารจัดการเงินอุดหนุนรายหัวนักเรียน ซึ่งที่ผ่านมาการจัดสรรจะรวมค่าสาธารณูปโภคไว้ในเงินอุดหนุนรายหัวด้วย ทำให้โรงเรียนต้องหาวิธีบริหารจัดการกันเอง เช่น บางโรงเรียนได้งบฯอุดหนุนมา 2.4 แสนบาทต่อปี แต่ต้องจ่ายค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำ ค่าไฟ เดือนละ 1.3 แสนบาท เท่ากับเงินอุดหนุนที่ได้มาใช้เพียง 2 เดือนก็หมดแล้ว ส่งผลให้โรงเรียนเกิดปัญหาเรื่องการบริหารจัดการ โดยเฉพาะโรงเรียนขนาดเล็ก ที่ทำให้พัฒนาได้ยาก ดังนั้นถ้าจะยกระดับคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนขนาดเล็กก็ต้องปรับวิธีการจัดสรรเงินอุดหนุนรายหัวใหม่ ซึ่งขณะนี้ตนก็ยังไม่สามารถบอกได้ว่า จะเป็นแนวทางใด แต่เรื่องนี้ต้องดูทั้งระบบไม่ใช่เฉพาะโรงเรียนขนาดเล็กเท่านั้น ทั้งนี้ต้นทุนการพัฒนาเด็กเราต้องไม่คิดเฉพาะเงินอุดหนุนอย่างเดียว แต่ต้องคิดส่วนอื่นด้วย
ดร.บุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) กล่าวว่า การปรับวิธีการจัดสรรเงินอุดหนุนรายหัวนักเรียนนั้น ส่วนตัวคิดว่า จะเสนอให้แยกค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอินเตอร์เน็ต ออกจากค่าพัฒนาการศึกษา เพื่อให้สามารถนำเงินนั้นไปใช้เพื่อการพัฒนาเด็กได้อย่างเต็มที่ และให้เงินตัวเด็กจริง ๆ อย่างไรก็ตามเบื้องต้นคาดว่า จะเสนอขอทบทวนวิธีการจัดสรรเงินอุดหนุนรายหัวรูปแบบใหม่ เฉพาะโรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียนต่ำกว่า 120 คน และโรงเรียนสาขา กระจัดกระจายในที่ต่างๆ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 15,000 กว่าโรงก่อน ส่วนโรงเรียนขนาดใหญ่ให้จัดสรรเงินอุดหนุนรายหัวตามเดิม เพราะไม่ได้รับผลกระทบ โดยตนจะเสนอเรื่องนี้ให้ที่ประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) พิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนเสนอ รมว.ศธ. พิจารณาต่อไป
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันพฤหัสบดีที่ 14 ธันวาคม 2560 เวลา 16.09 น.