คณะกรรมการกพฐ.ลงพื้นที่จ.แม่ฮ่องสอน เก็บข้อมูลเพื่อยกระดับการศึกษา ขณะที่ “ปิยะบุตร”แจงปัญหาการศึกษาไทบยมีจำนวนมาก แต่เรื่องเร่งด่วนคือ รร.ขนาดเล็ก
วันนี้(11 ธ.ค.)ดร.บุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) เปิดเผยถึงการประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.)ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน เมื่อเร็ว ๆ นี้ ว่า การประชุมนอกสถานที่ครั้งนี้มีเป้าหมาย คือ การนำคณะกรรมการ กพฐ.ลงพื้นที่เก็บข้อมูล เพื่อการยกระดับคุณภาพการศึกษาของประเทศไทย เพราะจากข้อมูลระบบการศึกษาของไทย จริงๆแล้ว ไม่ถือว่าแย่ แต่กลับจะดีด้วยซ้ำ เห็นได้จากการประเมินผลนักเรียนนานาชาติ หรือ พิซา ที่พบว่าประเทศไทยห่างจากประเทศสิงคโปร์ประมาณ 4-5 ปี แต่โรงเรียนที่อยู่ส่วนบนของประเทศไทย เช่น โรงเรียนจุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ โรงเรียนที่มีการแข่งขันสูง ก็มีค่าพิซาพอๆกับ โรงเรียนในประเทศสิงคโปร์ ขณะที่บางวิชาของโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์คะแนนสูงกว่าเสียอีก อย่างไรก็ตามถ้าเปรียบเทียบในประเทศไทยเอง คะแนนของโรงเรียนที่มีการแข่งขันสูง โรงเรียนประจำจังหวัด โรงเรียนประจำอำเภอ จะสูงกว่าโรงเรียนที่อยู่ระดับล่าง 6-7 ปี ดังนั้นถ้าเรายกระดับคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนระดับล่างขึ้นมาให้ใกล้กับระดับบนได้ จะถือว่าเราประสบความสำเร็จในการลดความเหลื่อมล้ำของประเทศ แต่ทั้งนี้จะต้องหาวิธี หรือรูปแบบในการพัฒนาหรือการออกแบบนโยบายบางเรื่องโดยเฉพาะเรื่องของการจัดสรรงบประมาณ การจัดสรรบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับนโยบายของรัฐบาลให้เป็นรูปธรรมให้ได้
“ผมต้องการให้คณะกรรมการ กพฐ. เห็นว่าในประเทศไทยมีบริบทที่แตกต่าง หลากหลาย เมื่อเห็นปัญหาตรงนี้แล้ว กพฐ. จะเข้าใจว่าควรจะออกแบบนโยบายที่จะช่วยทำให้เด็กกลุ่มนี้ได้มีโอกาสเข้ารับการศึกษาและโอกาสในเรื่องของคุณภาพได้อย่างไร”เลขาธิการ กพฐ. กล่าวและว่า สพฐ. ได้แบ่งสายผู้บริหารสพฐ. และ กพฐ.เป็น 6 สาย ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโรงเรียนในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีความหลากหลายของพื้นที่ที่ชัดเจน มีความหลากหลายของชาติพันธุ์ และยังมีปัญหาความยากจนสูงด้วย ถือว่าจังหวัดแม่ฮ่องสอนเป็นจังหวัดหนึ่งที่จัดการศึกษาค่อนข้างยาก ดังนั้นแต่ละสายก็จะไปดูโรงเรียนที่มีบริบทแตกต่างกัน เช่น โรงเรียนขนาดเล็ก โรงเรียนที่ไม่มีไฟฟ้า โรงเรียนที่ใช้ ดีแอลทีวี โรงเรียนที่มีความสมบูรณ์พัฒนาแล้วอย่างดี เหมือนกับโรงเรียนในเมือง เพื่อนำข้อมูลมาสรุปและวางแผนการจัดการศึกษาให้เด็กทุกคนได้รับทั้งโอกาสและการศึกษาที่มีคุณภาพด้วยความเสมอภาคต่อไป หลังจากได้แม่ฮ่องสอนโมเดลแล้ว จะมีการขยายผลไปยังพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศต่อไปทำให้เรานำไปใช้ในพื้นที่อื่นๆได้ โดยเฉพาะเรื่องการพักนอนของนักเรียน ซึ่ง กพฐ.และสพฐ.เห็นตรงกันว่าเป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการโดยด่วน การที่เด็กได้พักนอนในโรงเรียนจะช่วยให้เด็กไม่ต้องเดินทางไกล มีเวลาทบทวนบทเรียน ซึ่งจะทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นและจะส่งผลต่อการเรียนการสอนที่มีคุณภาพได้
ดร.ปิยะบุตร ชลวิจารณ์ ประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) กล่าวว่า การลงพื้นที่ทำให้ กรรมการ กพฐ.ได้รับข้อมูลและมองเห็นปัญหาการจัดการศึกษาของประเทศ ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการวิเคราะห์และวางแผนเพื่อให้ข้อเสนอแนะการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานของประเทศ อย่างไรก็ตามเนื่องจากปัญหาการจัดการศึกษาของประเทศไทยมีค่อนข้างมาก ดังนั้นจึงต้องมีการจัดลำดับประเด็นปัญหาเพื่อดำเนินการแก้ไข ซึ่ง กพฐ.เห็นว่า ปัญหาเร่งด่วนที่ต้องเข้าไปดูแลอันดับแรก คือปัญหาโรงเรียนขนาดเล็ก.
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก เดลินิวส์ วันจันทร์ที่ 11 ธันวาคม 2560 เวลา 10.00 น.