ต้องมีคุณสมบัติเข้มข้นแตกต่าง/ปรับตัวสู่การทำงานอาชีพใหม่-อยู่รอดพึ่งตัวเองได้
คลอด 8 ยุทธศาสตร์ปฏิรูปอุดมศึกษา “หมอจรัส” เน้นการผลิตบัณฑิต 4.0 ที่มีคุณสมบัติแตกต่างไปจากปัจจุบัน สามารถปรับตัวไปสู่การทำงานอาชีพใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ พร้อมกับมีทักษะในการดำรงชีวิตยุคสมัยปัจจุบัน จึงต้องมีการบริหารจัดการพิเศษแตกต่างจากการศึกษาขั้นพื้นฐาน และจำเป็นต้องมีกระทรวงการอุดมฯ ตั้งเป้า 2 สัปดาห์แก้ไขปรับร่าง พ.ร.บ.ต่างๆ เสร็จ
นพ.จรัส สุวรรณเวลา ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การอุดมศึกษา พ.ศ.... กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ในที่ประชุมคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจฯ ได้มีการพิจารณาเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปอุดมศึกษา พร้อมทั้งได้กำหนดยุทธศาสตร์การปฏิรูปอุดมศึกษาใน 8 ประเด็น ดังนี้ 1.อุดมศึกษาต้องมุ่งการผลิตคนที่แตกต่างไปจากเดิม และสนองความต้องการของประเทศ โดยบัณฑิตที่จบการศึกษาต้องมีความรู้ ทักษะ เจตคติเหมาะสมต่อการจ้างงาน สอดคล้องกับสมรรถนะความรู้ ทักษะของตน เศรษฐกิจของประเทศ โดยมุ่งเน้นเป้าหมายของประเทศระดับสูง มีคุณธรรม จริยธรรม ปรับตัวสู่งานใหม่ๆ ในอนาคต การผลิตบัณฑิตจึงไม่ใช่ในรูปแบบที่ดำเนินการอยู่ตอนนี้ 2.การศึกษาต้องมีความเข้มข้นและตรงเป้าหมาย เพื่อแก้ปัญหาสภาพปัจจุบันที่ร้ายแรงพอสมควร คือปัญหาการมีทักษะไม่สอดคล้องกับที่ตลาดแรงงาน อีกทั้งบัณฑิตจบออกมาไม่สามารถทำให้คุณภาพชีวิตตัวเองดีขึ้นได้ ยุทธศาสตร์ดังกล่าวจะแก้ไขในเรื่องต่างๆ เช่น การผลิตครู ซึ่งขณะนี้มีบัณฑิตครูจบประมาณ 25,000 คน แต่ในอีก 4 ปีข้างหน้าจะมีตำแหน่งว่างน้อยกว่านี้ รวมถึงคุณภาพ จากข้อมูลหลายแห่งพบว่าบัณฑิตไม่สามารถทำงานได้ เป็นต้น 3.การที่ต้องใช้ผลงานวิจัยสู่เรื่องการแข่งขันระดับโลก และใช้ประโยชน์ในการพัฒนาสังคมอย่างจริงจัง ต่อเนื่อง โดยการวิจัยและนวัตกรรมต้องเป็นงานวิจัยนำไปสู่การมีนวัตกรรม ซึ่งนวัตกรรมต้องเป็นสิ่งที่ขายได้ และเป็นนวัตกรรมทางสังคม นวัตกรรมทางระบบ จะใช้แบบเดิมไม่ได้
นพ.จรัสกล่าวต่อว่า 4.ธรรมาภิบาล ระบบของอุดมศึกษาเน้นเรื่องธรรมาภิบาลโดยใช้สภามหาวิทยาลัย แต่ขณะนี้สภาพสภามหาวิทยาลัยไม่ได้เน้นธรรมาภิบาลอย่างเต็มที่ 5.ระบบงบประมาณ ตอนนี้ยังใช้ไม่คุ้มค่า ทั้งเรื่องผลิตกำลังคนและการสร้างองค์ความรู้ เพราะงบประมาณส่วนใหญ่นำไปใช้ในเรื่องเงินเดือน ไม่มีงบประมาณที่จะผลักดันให้เกิดการปรับตัวอุดมศึกษาไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 6.ระบบข้อมูลสารสนเทศ โดยเฉพาะข้อมูลนักเรียน นิสิต นักศึกษา ควรมีข้อมูลกลางเพื่อได้รู้ว่ามีนักศึกษาจำนวนเท่าไหร่ ผลิตถูกต้องหรือไม่ มีงานทำหรือไม่ ครูผู้สอนมีเท่าใด เป็นต้น 7.การลดความเหลื่อมล้ำในโอกาส เชื่อมโยงไปถึงคุณภาพการศึกษาที่แตกต่างกัน ทำให้การเข้าถึงอุดมศึกษาไม่เท่ากัน และ 8.การจัดโครงสร้างแยกระบบการบริหารอุดมศึกษาของชาติออกเป็นส่วนที่เป็นนโยบาย ออกจากส่วนที่เป็นการกำกับดูแลและการปฏิบัติงาน ขณะนี้มหาวิทยาลัยมีเสรีภาพ แต่การกำกับดูแลไม่ค่อยดี เพราะเหมือนกันไปหมด ไม่มีความหลากหลาย ทั้งที่บางส่วนอาจต้องกำกับแรง บางส่วนต้องกำกับอ่อน อย่างไรก็ตาม เรื่องนโยบายและยุทธศาสตร์ทั้งหมดต้องปรับไปแก้
“เนื่องจากอุดมศึกษามีความหลากหลาย และสิ่งที่กระทบกับอุดมศึกษามีความซับซ้อน ดังนั้นคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจฯ จึงสรุปว่า มีความจำเป็นต้องแยกกระทรวงการอุดมศึกษาออกจากกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เพราะเป้าหมายของอุดมศึกษาไม่เหมือนการบริหารจัดการของการศึกษาขั้นพื้นฐานหรือการศึกษาอื่นๆ อีกทั้งหากจะขับเคลื่อนเป็นไทยแลนด์ 4.0 ได้จำเป็นต้องมีอุดมศึกษา 4.0 บัณฑิต 4.0 และต้องมีการบริหารจัดการเป็นพิเศษ โดยจากนี้ต้องดำเนินการปรับร่าง พ.ร.บ.การอุดมศึกษา พ.ศ... ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ที่กำหนดไว้ พร้อมทั้งยังต้องมีการบริหารจัดการเรื่องอื่นๆ ต่อไป เช่น สถาบันอุดมศึกษาเอกชนซึ่งมี พ.ร.บ.อีกฉบับ จะทำอย่างไรให้มีประสิทธิภาพ เป็นต้น ซึ่งผมตั้งเป้าไว้ 2 สัปดาห์จะดำเนินการแก้ไขปรับร่าง พ.ร.บ.ต่างๆ เสร็จสิ้น เพื่อเสนอการประชุมคณะกรรมการอิสระฯ ในวันที่ 12 ธันวาคม 2560 แต่เบื้องต้นจะนำข้อสรุปของคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจฯ เรื่องความจำเป็นในการแยกกระทรวงการอุดมศึกษาและการกำหนดยุทธศาสตร์เสนอคณะกรรมการอิสระฯ ในวันที่ 6 ธันวาคมนี้" ประธานคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจฯ กล่าว.
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก ไทยโพสต์ วันที่ 4 พฤศจิกายน 2560