ความขัดแย้งระหว่าง สพท. กับ ศธจ.ขยายตัวต่อเนื่อง อนุกรรมการกฎหมาย ศธ.ชง 2 ทาง คปภ.พิจารณาใช้กฎหมายหวังให้ ผอ.เขตพื้นที่การศึกษามีอำนาจเหลือบ้าง พร้อมคิด 5 เรื่องขจัดปัญหา
จากความขัดแย้งระหว่างสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา(สพท.) สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กับ สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.ศธ.) ที่มีมาอย่างต่อเนื่อง นั้น วันนี้ (28 พ.ย.) นายสุรินทร์ แก้วมณี ผู้ช่วยปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในฐานะได้รับมอบหมายให้ดูแลการบริหารจัดการศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) และ ศึกษาธิการภาค (ศธภ.) กล่าวว่า ผู้บริหารระดับสูงได้พูดคุยกันมาตลอด โดยขณะนี้ได้วางกรอบแนวคิดเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาใน 5 เรื่อง ดังนี้ เรื่องแรก การจัดสรรกรอบอัตรากำลังทั้งในส่วนของสำนักงาน ศธจ. และสพท. ให้เหมาะสมกับปริมาณงาน โดยสำนักงาน ศธจ. จะมีตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามาตรา 38 ค.(2) ประมาณ 45 อัตรา ทั้งนี้ยังไม่รวมตำแหน่งศึกษานิเทศก์ ส่วน สพท.แต่ละแห่งจะมี 50-60 อัตรา ซึ่งขณะนี้มีปัญหาเกลี่ยอัตรากำลังจาก สพท.มาสำนักงาน ศธจ.ทำให้ สพท.บางแห่งไม่สบายใจ
นายสุรินทร์ กล่าวต่อไปว่า เรื่องที่ 2 ปัญหาเกี่ยวกับอำนาจของ ผอ.สพท.และ ศธจ. โดยให้คณะอนุกรรมการด้านกฎหมายของ ศธ. ได้ตีความข้อกฎหมายในอำนาจตามมาตรา 53 (3) และ (4) ของ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547 ให้ ผอ.สพท.เป็นผู้มีอำนาจการบรรจุแต่งตั้ง กับ คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 19/2560 เรื่อง การปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของ ศธ.ข้อที่ 13 ที่ระบุการบรรจุและแต่งตั้งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในจังหวัดหรือกรุงเทพมหานคร ตามมาตรา 53 (3) และ (4) แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 ให้ศึกษาธิการจังหวัด โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) เป็นผู้มีอำนาจสั่งบรรจุและแต่งตั้ง เรื่องที่ 3.จัดทำแผนบูรณาการร่วมกันระหว่างสำนักงาน ศธจ. และ สพท. เรื่องที่4.จัดระบบการนิเทศติดตาม และ เรื่องที่ 5. จัดทำคูมือ ขั้นตอนการทำงาน ศธจ. และ สพท. เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
“ขณะนี้คณะอนุกรรมการกฎหมาย ของ ศธ.ได้พิจารณาแล้ว โดยจะเสนอให้คณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค (คปภ.)พิจารณา 2 แนวทาง คือ 1. ตีความตามนัยของ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูฯทั้งกระบวน หรือ จะตีความตามนัยคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 19 เช่น ถ้าตีความตามนัยคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 19 เรื่องใดที่เข้าพิจารณาใน กศจ. ให้ ศธจ.ลงนามในคำสั่ง ถ้าเรื่องใดที่ไม่เข้าพิจารณาใน กศจ.ให้ ผอ.สพท.ลงนามได้ อาทิ ให้รักษาการในตำแหน่ง ให้รักษาราชการแทน การแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยไม่ร้ายแรง เป็นต้น เพื่อให้ผอ.สพท.มีอำนาจเหลืออยู่บ้าง ทั้งนี้ เมื่อ คปภ.พิจารณาว่าจะตีความแนวทางใดแล้ว ก็จะเสนอให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความว่าแนวทางนั้นชอบด้วยข้อกฎหมายทั้งระบบหรือไม่” นายสุรินทร์ กล่าวและว่า ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องใหญ่ ความเปลี่ยนแปลงต้องอาศัยเวลา โดยให้ ศธจ.เป็นหน่วยสนับสนุนให้ฝ่ายปฏิบัติคือ สพท.ทำงานได้อย่างราบรื่น ซึ่งตนอยากให้ สพท.หลุดจากกรอบแนวคิดเดิม คิดถึงการจัดการศึกษาที่ต้องเป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติ มีเป้าหมายที่ชัดเจน คำนึงถึงผลที่จะเกิดขึ้นกับประเทศและนักเรียนเป็นหลัก
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันพุธที่ 29 พฤศจิกายน 2560 เวลา 15.20 น.