สพฐ.ปรับการเรียนการสอนใหม่ เน้นเด็กเลือกเรียนตามที่ถนัดและปลูกฝังทักษะวิชาการ วิชาชีพ และชีวิต พร้อมเชิญผู้มีความรู้ ครูเกษียณร่วมโครงการครูจิตอาสาพัฒนาการศึกษา
วันนี้( 28พ.ย.)ดร.บุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เตรียมที่จะปฎิรูปการเรียนการสอนในห้องเรียน โดยการดำเนินการในเรื่องนี้จะปรับรูปแบบใหม่ในการเรียนของเด็กให้มีความหลากหลายนอกเหนือจากการเรียนใน 8 กลุ่มสาระวิชาหลักของแต่ละช่วงชั้นมากขึ้น แบ่งเป็น ระดับประถมศึกษาเป็นการเรียนวิชาเพิ่มเติม เช่น เทคโนโลยี ภาษา ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น เน้นให้เด็กได้เลือกเรียนตามความถนัดของตัวเอง เพราะในช่วงชั้นนี้มีความสำคัญมาก เนื่องจากเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านที่เด็กจะเลือกเรียนสายสามัญหรือสายวิชาชีพ ดังนั้นการให้เด็กได้เลือกเรียนตามความถนัดของตัวเองจะทำให้เด็กรู้ว่าตัวเองมีทักษะด้านไหน หากเด็กชอบวิชาชีพก็จะได้เป็นการสร้างพื้นฐานส่งต่อเด็กสู่การเรียนอาชีวศึกษา ส่วนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย เน้นทักษะการเรียนรู้ที่เข้มข้น
“การปฎิรูปการเรียนการสอนในห้องเรียนจะต้องเชื่อมโยงกับการปลูกฝังเด็กใน 3 ด้าน คือ ทักษะวิชาการ ทักษะวิชาชีพ และทักษะชีวิต เพราะเรามีเป้าหมายที่จะลดความเหลื่อมล้ำและสร้างโอกาสทางการศึกษา นอกจากนี้ สพฐ.ยังได้ทำโครงการครูจิตอาสาพัฒนาการศึกษาไทย โดยจะเชิญชวนบุคคลที่มีความรู้ความสามารถในด้านต่างๆ เช่น เทคโนโลยีสารสนเทศ กฎหมาย หรือครูที่เกษียณอายุราชการแล้วมาลงทะเบียนที่เขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ เพื่อที่จะนำบุคคลเหล่านี้มาช่วยจัดการเรียนการสอนให้โรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลที่ขาดครู ซึ่งผมเชื่อว่าการปรับเปลี่ยนครั้งนี้จะช่วยให้เราเติมเต็มคุณภาพการศึกษาอย่างเป็นรูปธรรม” เลขาธิการ กพฐ.กล่าว
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันอังคารที่ 28 พฤศจิกายน 2560