สสส.จับมือเครือข่าย Thailand EF Partnership จัดประชุม EF Symposium 2017 “สมองเด็กไทย รากฐานทุนมนุษย์เพื่ออนาคตประเทศ” พบเด็กไทยเกือบ 30% มีปัญหาพฤติกรรมด้านการคิดเชิงบริหาร งานวิจัยชี้เด็ก EF ต่ำ มีแนวโน้มเสี่ยงเป็นพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว 2 เท่า ก่ออาชญากรรม 4 เท่า เหตุขาดทักษะการควบคุมตนเอง แนะระบบการสอนไม่ควรเร่งเรียนเขียนอ่าน เน้นฝึกทักษะการคิด-ตัดสินใจ-กำกับตนเอง
เมื่อวันที่ 27 พ.ย. ที่โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการ ภาคีเครือข่าย Thailand EF Partnership จำนวน 30 องค์กร และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดการประชุมวิชาการ EF Symposium 2017 เรื่อง “สมองเด็กไทย รากฐานทุนมนุษย์เพื่ออนาคตประเทศ” โดยพล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายชัดเจนในการพัฒนาคนให้พร้อมเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจและสังคมดิจิตอลเพื่อเป็นรากฐานของไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งการพัฒนาเด็กตั้งแต่ปฐมวัยได้มีการกำหนดนิยามที่ครอบคลุมการดูแลเด็กตั้งแต่ในครรภ์และให้ความสำคัญกับรอยเชื่อมต่อระหว่างอนุบาลกับชั้นประถมศึกษา รวมทั้งกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาเด็กปฐมวัยที่เน้นการจัดการศึกษาที่สอดคล้องกับพัฒนาการทุกด้าน ไม่ส่งเสริมการเร่งเรียนวิชาการในเด็กอนุบาลจนรากฐานทักษะชีวิตของเด็กเสียหาย ซึ่งองค์ความรู้เรื่องทักษะสมอง Executive Functions (EF) เป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาคนไปตลอดชีวิตที่ต้องส่งเสริมตั้งแต่เด็กเล็กให้รู้จักยับยั้งชั่งใจ คิดวิเคราะห์ไตร่ตรอง อดทนรอคอย คิดเป็น เรียนรู้เป็น เป็นทักษะที่เราต้องการจากเด็กรุ่นใหม่มากกว่าการท่องจำเนื้อหาความรู้เพื่อเอาคะแนนสอบ จึงต้องลงทุนในเด็กปฐมวัยและให้ฝึกฝนทักษะชีวิตเพื่อยืนอยู่ได้อย่างเข้มแข็งท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของโลกอย่างรวดเร็ว
นางเพ็ญพรรณ จิตตะเสนีย์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว สสส. กล่าวว่า การพัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชนให้เป็นทุนมนุษย์ที่มีคุณภาพตอบโจทย์โลกยุคใหม่ จำเป็นต้องพัฒนาทักษะสมองส่วนหน้า หรือ EF ให้มนุษย์มีความสามารถในการบริหารจัดการชีวิต ทั้งคิดเป็น ทำเป็น เรียนรู้เป็น แก้ปัญหาเป็น และมีแนวโน้มที่จะประสบความสำเร็จในอนาคต โดยจำเป็นที่จะต้องส่งเสริมตั้งแต่เด็กเล็กเพราะเป็นช่วงที่สมองเติบโตมากที่สุด อย่างไรก็ตามจากรายงานผลพัฒนาการด้านการคิดเชิงบริหารในเด็กปฐมวัย ตุลาคม 2559 โดยศูนย์วิจัยประสาทวิทยาศาสตร์ และสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว หรือการวัด EF ในเด็กอายุ 2-6 ปี จำนวน 2,965 คน กระจายทุกภูมิภาคของประเทศ พบว่า มีเด็กเกือบ 30% มีปัญหาพฤติกรรมด้านการคิดเชิงบริหารน้อยกว่าเกณฑ์เฉลี่ย ซึ่งเด็กเหล่านี้จะมีปัญหาในการกำกับตนเอง ทำโดยไม่คิด ใจร้อนรอคอยไม่เป็น วอกแวกง่าย ไม่สามารถทำงานยากให้สำเร็จ
“เด็กที่มีปัญหาทางพฤติกรรมในระยะยาวจะเป็นอุปสรรคต่อความสำเร็จในด้านการเรียน การทำงาน การอยู่ร่วมกันในสังคม รวมทั้งมีโอกาสเกิดปัญหาสังคมอื่นๆตามมา โดยจากการศึกษาในต่างประเทศเปรียบเทียบเด็กที่ขาดการพัฒนาทักษะ EF เมื่อเทียบกับเด็กที่มีทักษะ EF ที่ดี พบว่า เด็กที่ไม่ถูกฝึกทักษะ EF จะมีรายได้น้อยกว่า มีแนวโน้มติดประวัติอาชญากรรมถึง 4 เท่า ใช้สารเสพติดมากกว่าถึง 3 เท่า และมีแนวโน้มเป็นพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวมากถึง 2 เท่า ดังนั้นจึงไม่ควรมองข้ามเด็กไทยกว่า 30% ที่มีพัฒนาการ EF ล่าช้า โดยแนวทางสำคัญคือ ระบบการสอนและการดูแลเด็กปฐมวัยไม่ควรเร่งเรียนเขียนอ่านเพียงอย่างเดียว เพราะทำให้เด็กขาดโอกาสในการฝึกคิด ฝึกตัดสินใจ และฝึกกำกับตนเองไปสู่เป้าหมาย ครูผู้ดูแลเด็กปฐมวัยควรมีความรู้ในการสามารถสังเกตและประเมินพัฒนาการเด็ก ตลอดจนจัดการเรียนการสอนเพื่อส่งเสริมพัฒนาการของเด็ก ซึ่งสสส.และภาคีเครือข่าย Thailand EF Partnership ได้มีการแลกเปลี่ยนความรู้ที่ได้จากการปฏิบัติจริงเพื่อส่งเสริม EF ในเด็กและเยาวชนต่อไป” นางเพ็ญพรรณ กล่าว
นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ จิตแพทย์และนักวิชาการด้านการพัฒนาเด็กและเยาวชน กล่าวว่า ระบบการศึกษาที่มุ่งสอนหนังสือเพื่อมอบความรู้หมดสมัยไปแล้วในโลกไอที เด็กยุคใหม่ต้องรู้ว่าจะเป็นอะไร รู้จักกำหนดเป้าหมายของตัวเองและไปให้ถึงเป้าหมาย โดยไม่วอกแวก โดยสาเหตุที่เด็กไทยไม่มีเป้าหมายเพราะสมองถูกทำลายตั้งแต่อนุบาลด้วยระบบการศึกษาที่เร่งเรียนตั้งแต่ 3 ขวบ ซึ่งการพัฒนาสมองในเด็ก 2-7 ขวบ ควรให้เด็กได้เล่นและฝึกให้ทำงานบ้าน ซึ่งการทำงานบ้านเป็นการพัฒนาทักษะสมองมากกว่าการทำการบ้าน เพราะเป็นสถานการณ์ท้าทายที่ต้องวางแผนที่ซับซ้อน โดยเด็กจะรู้จักวางแผนทำงานบ้านให้เร็วเพื่อที่จะได้ออกไปเล่น ส่วนเด็กประถมคือการสอนโดยใช้โจทย์เป็นฐาน ซึ่ง EF จะช่วยเรื่องการควบคุมตนเอง ฝึกความจำใช้งาน และการคิดวิเคราะห์ โดยการพัฒนา EF สร้างได้ในเด็กทุกแห่งไม่เกี่ยวกับเงิน เพียงแค่เปลี่ยนวิธีการเลี้ยงดู เช่น อ่านนิทานให้ฟังก่อนนอน เล่นให้เยอะ ทำงานบ้านให้มากเพื่อให้รู้จักควบคุมตนเอง ปฏิรูประบบการศึกษาโดยเปลี่ยนโรงเรียนให้เป็นโรงเรียนสมัยใหม่โดยใช้โจทย์เป็นฐาน เพื่อให้เด็กยุคใหม่สามารถกำหนดเป้าหมายเป็น และทำตามเป้าหมายของตนเองที่ตั้งไว้อย่างไม่วอกแวก
ขอบคุณข่าวจาก ฝ่ายสื่อสารองค์กร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ