ชัดเจน-ครอบคลุมผู้กู้ทุกกลุ่ม/ย้ำเพื่อแก้หนี้ครูไม่ใช่ลดNPLแบงก์
สกสค.ยื่นข้อเสนอ ธ.ออมสิน ร่างบันทึกข้อตกลงร่วม “พินิจศักดิ์” เผยต้องมีความชัดเจนครอบคลุมผู้กู้ทุกกลุ่ม ลั่นการร่างข้อตกลงใหม่จะต้องเป็นประโยชน์ในการแก้ปัญหาหนี้สินครูตามนโยบายรัฐบาล ไม่ใช่เป็นการแก้ NPL ของธนาคารเท่านั้น
นายพินิจศักดิ์ สุวรรณรังค์ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (เลขาฯ ก.ค.ศ.) ในฐานะปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ในการประชุมพิจารณาร่างบันทึกข้อตกลงร่วมกันระหว่าง สำนักงาน สกสค.กับธนาคารออมสิน ที่ประชุมได้มีการอธิปรายประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับร่างบันทึกข้อตกลงดังกล่าว ซึ่ง สกสค.ได้เสนอให้ธนาคารออมสินระบุในส่วนของข้อตกลงที่ยกเลิก และข้อตกลงเดิมข้อไหนที่จะนำมาใช้เป็นข้อตกลงที่จะทำร่วมกัน รวมถึงข้อตกลงใหม่จะมีอะไรบ้าง และหลักเกณฑ์ เงื่อนไขต่างๆ จะต้องมีการระบุให้ชัดเจน ส่วนการจ่ายคืนดอกเบี้ยที่ธนาคารได้รับชำระแล้วคืนให้แก่ผู้กู้ที่ชำระหนี้กู้ครบ 12 งวด ทาง สกสค.ก็เสนอว่าให้มีการพิจารณาเดือนต่อเดือน ไม่ใช่พิจารณาเฉพาะผู้ที่จ่ายครบ 12 งวดเท่านั้น และการปรับโครงสร้างหนี้หรือการทำร่างบันทึกข้อตกลงร่วมครั้งใหม่นี้ ควรพิจารณาให้ครอบคลุมถึงผู้กู้ที่มีวินัยดีมาตลอดด้วย ไม่ใช่แก้ปัญหาเฉพาะผู้กู้ที่ผิดนัดชำระหนี้
สำหรับเรื่องมาตรการผ่อนปรนเงื่อนไขการชำระหนี้ อย่างกรณีการพักชำระเงินต้น 3 ปีนั้น สกสค.เสนอว่า ธนาคารออมสินจะต้องแสดงให้เห็นว่าดอกเบี้ยเงินต้นเดิมที่พักชำระหนี้นั้นธนาคารออมสินคิดอัตราดอกเบี้ยอย่างไร ดอกเบี้ยเดินต่อหรือหยุดพักด้วย และหากไม่มีการขยายเวลา ผู้กู้จะมีปัญหา ไม่ได้รับประโยชน์จากการทำข้อตกลงในครั้งนี้ เพราะภาระการชำระหนี้ยังเหมือนเดิม ทั้งนี้ ในกลุ่มผู้กู้ที่การผ่อนชำระหนี้จะเป็นดอกเบี้ยส่วนใหญ่ แต่เป็นเงินต้นเพียงเล็กน้อย อย่างโครงการสวัสดิการเงินกู้กองทุนฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) 6 และ 7 ทางธนาคารออมสินจะต้องแสดงรายละเอียดในตารางเปรียบเทียบให้ชัดเจน เพื่อให้ผู้กู้ทราบ นอกจากนี้ ตนยังเห็นว่าการที่ธนาคารออมสินดำเนินการเรียกผู้กู้ที่ค้างชำระหนี้เข้ามาปรับโครงสร้างหนี้ใหม่ หรือชี้แจงบันทึกข้อตกลงร่วมดังกล่าว ควรเป็นการดำเนินการร่วมกันระหว่างธนาคารออมสินและ สกสค.เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนแก่ผู้กู้
“หลักการของการร่างบันทึกข้อตกลงใหม่ในครั้งนี้ จะต้องเป็นประโยชน์ต่อการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาล ไม่ใช่เป็นการแก้สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของธนาคารออมสินเท่านั้น โดยจากนี้ทั้ง 2 ฝ่ายตกลงที่จะตั้งคณะทำงานร่วมกันเพื่อจัดทำร่างบันทึกข้อตกลงใหม่อีกครั้ง และคาดว่าธนาคารออมสินจะเสนอร่างข้อตกลงดังกล่าวให้ สกสค.พิจารณาได้ภายในสัปดาห์หน้า” ปฏิบัติหน้าที่เลขาฯ สกสค.กล่าว.
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก ไทยโพสต์ วันที่ 27 พฤศจิกายน 2560