เลขาธิการ กพฐ. แจงเหตุปิดโครงการโรงเรียนไอซียู เปลี่ยนรูปแบบการดำเนินงานใหม่ใช้งบฯปกติ ด้านครู-ผู้บริหารโรงเรียนวิจารณ์ยับยังไม่พ้นโคม่า
วันนี้ (21 พ.ย.) ดร.บุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ได้ดำเนินโครงการยกระดับคุณภาพโรงเรียนที่ต้องการความช่วยเหลือและพัฒนาเป็นพิเศษอย่างเร่งด่วน หรือ โรงเรียนไอซียู ซึ่งมีโรงเรียนเข้าร่วมโครงการตั้งแต่เดือนธันวาคม ปี 2559 จำนวน 5,032 แห่ง โดยใช้งบประมาณทั้งของ สพฐ. และภาคเอกชน เพื่อแก้ไขปัญหาให้โรงเรียนกลุ่มนี้ประมาณ 500 ล้านบาท และได้ดำเนินการแก้ไขปัญหามาครบ 1ปี พบว่า สภาพโรงเรียนที่อยู่ในสภาวะวิกฤตด้านต่างๆได้รับการช่วยเหลือและแก้ปัญหาตามเป้าหมายที่กำหนดไว้แล้ว ดังนั้น สพฐ.จะมีการพัฒนาปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินงานใหม่โดยให้อยู่ในหมวดลดความเหลื่อมล้ำก้าวนำสู่คุณภาพ ซึ่งก็เป็นการแก้ปัญหาให้โรงเรียนที่มีความวิกฤตในด้านต่างๆ เช่นกัน โดยใช้งบฯปกติ ดังนั้น โรงเรียนบางแห่งที่รู้สึกว่ายังไม่ได้รับการช่วยเหลืออะไรเลยก็ไม่ต้องกังวล เพราะยังจะได้รับการช่วยเหลือพัฒนา ซึ่งสพฐ.จะวิเคราะห์ข้อมูลสภาพปัญหาของโรงเรียนต่างๆ เพื่อจัดทำเป็นแผนการของบฯในปีงบประมาณ2562 ต่อไป
"นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ ได้รับทราบและเข้าใจดีว่าเราได้ช่วยเหลือโรงเรียนที่วิกฤตจนสิ้นสุดโครงการแล้ว และ สพฐ.ไม่ได้ปิดโครงการนี้เพียงโครงการเดียว ยังมีอีกหลายโครงการที่กำลังจะยุติการดำเนินงาน โดยจะทำในลักษณะยุบรวมโครงการให้สอดรับกับปัจจุบันมากขึ้น เพราะไม่อยากให้โครงการต่างๆที่ส่วนกลางสั่งไปสร้างภาระงานให้แก่ครู จนครูไม่มีเวลาให้แก่เด็ก” เลขาธิการ กพฐ.กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากข้อมูลของ สพฐ. พบว่า มีโรงเรียนในโครงการโรงเรียนไอซียู จำนวน 5,032 โรงเรียน แบ่งเป็น กลุ่มโรงเรียนที่ต้องได้รับความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน ระดับฉุกเฉิน 2,253 โรงเรียน ระดับเร่งด่วน 1,923 โรงเรียน และไม่ฉุกเฉิน 856 โรงเรียน ซึ่งในปีงบประมาณ 2560 หรือ ระยะ 1 ปีที่ผ่านมา มีโรงเรียนที่ได้รับความช่วยเหลือด้านกายภาพ เช่น ซ่อมแซมอาคารเรียน ระบบไฟฟ้าและประปา เป็นต้น จำนวน 1,964 โรง ขณะที่ด้านบุคลากรมีโรงเรียนที่ต้องการความช่วยเหลือและพัฒนาเป็นพิเศษอย่างเร่งด่วน จำนวน 6,199 อัตรา ใน 2,261 โรง แต่ สพฐ.จัดสรรอัตราข้าราชการ พนักงานราชการ และลูกจ้างชั่วคราวรายเดือน ตำแหน่งครูผู้สอน ให้ได้เพียง 427 โรง จำนวน 466 อัตรา จึงถูกครู และผู้บริหารสถานศึกษา วิพากษ์วิจารณ์ ว่า เมื่อยุติโครงการแล้วไปแล้วโรงเรียนที่ได้รับความเดือดร้อนเหล่านี้จะได้รับความช่วยเหลือเมื่อไหร่.
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันอังคารที่ 21 พฤศจิกายน 2560 เวลา 16.07 น.