สถานี ก.ค.ศ.
ชั่วโมงการปฏิบัติงานและการประเมินผลงานที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการครู เพื่อขอมีและเลื่อนวิทยฐานะตามหลักเกณฑ์ใหม่ (ว 21/2560)
ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา และผู้สนใจทุกท่าน ตามที่ ก.ค.ศ. ได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครู มีวิทยฐานะและเลื่อนวิทยฐานะ ตามหนังสือสำนักงาน ก.ค.ศ. ที่ ศธ 0206.3/ว 21 ลงวันที่ 5 กรกฎาคม 2560 (ว 21/2560) ซึ่งได้กำหนดให้ชั่วโมงการปฏิบัติงานและการผ่านการประเมินผลงานที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ เป็นเงื่อนไขส่วนหนึ่งเกี่ยวกับคุณสมบัติของครูที่จะขอมีหรือเลื่อนวิทยฐานะด้วย นั้น ขอเรียนให้ทุกท่านทราบว่า ก.ค.ศ. ได้มีมติกำหนดชั่วโมงการปฏิบัติงานและรายละเอียดเกี่ยวกับการประเมินผลงานที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อให้ส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถือปฏิบัติแล้ว ตามหนังสือสำนักงาน ก.ค.ศ. ที่ ศธ 0206.3/0634 - 0643 ลงวันที่ 10 ตุลาคม 2560 (สามารถดาวน์โหลดได้ที่เว็บไซต์สำนักงาน ก.ค.ศ. www.otepc.go.th) โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้
1. ชั่วโมงการปฏิบัติงาน หมายถึง จำนวนชั่วโมงสอนตามตารางสอน งานสนับสนุนการจัดการเรียนรู้ การมีส่วนร่วมในชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ และงานตอบสนองนโยบายและจุดเน้น โดยข้าราชการครูที่จะขอมีและเลื่อนวิทยฐานะ ต้องมีชั่วโมงสอนตามตารางสอน ซึ่งได้แก่ จำนวนชั่วโมงสอนในวิชา/สาขา/กลุ่มสาระการเรียนรู้ ที่กำหนดไว้ตามหลักสูตร การจัดประสบการณ์เรียนรู้ กิจกรรมฟื้นฟูสมรรถภาพผู้เรียน ซึ่ง ก.ค.ศ. ได้กำหนดให้สอดคล้องกับประเภทและบริบทการจัดการศึกษาของแต่ละสังกัด เช่น สังกัด สพฐ. ระดับปฐมวัย ต้องไม่ต่ำกว่า 6 ชั่วโมง/สัปดาห์ ระดับประถมศึกษาและระดับมัธยมศึกษา (รวมโรงเรียนวัตถุประสงค์พิเศษ และโรงเรียนจัดการเรียนรวม) ต้องไม่ต่ำกว่า 12 ชั่วโมง/สัปดาห์ สังกัด สอศ. หลักสูตร ปวช. ปวส. และหลักสูตรวิชาชีพระยะสั้น ต้องปฏิบัติการสอนไม่ต่ำกว่า 12 ชั่วโมง/สัปดาห์ หรือไม่ต่ำกว่า 216 ชั่วโมง/ภาคเรียน เป็นต้น
นอกจากจะต้องมีชั่วโมงสอนขั้นต่ำตามที่ ก.ค.ศ. กำหนดแล้ว การขอมีวิทยฐานะครูชำนาญการหรือขอเลื่อนเป็นวิทยฐานะครูชำนาญการพิเศษ ต้องมีชั่วโมงการปฏิบัติงานในแต่ละปีไม่น้อยกว่า 800 ชั่วโมง ส่วนการขอเลื่อนเป็นวิทยฐานะครูเชี่ยวชาญและวิทยฐานะครูเชี่ยวชาญพิเศษ ต้องมีชั่วโมงการปฏิบัติงานในแต่ละปีไม่น้อยกว่า 900 ชั่วโมง โดยในชั่วโมงการปฏิบัติงานต้องมีชั่วโมงการมีส่วนร่วมในชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพในแต่ละปีไม่น้อยกว่า 50 ชั่วโมง ด้วย
2. การประเมินผลงานที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ เป็นการให้รายละเอียดการประเมิน 3 ด้าน คือ ด้านการจัดการเรียนการสอน (8 ตัวชี้วัด) ด้านการบริหารจัดการชั้นเรียน (3 ตัวชี้วัด) และด้านการพัฒนาตนเองและพัฒนาวิชาชีพ (2 ตัวชี้วัด) ซึ่งมีสาระสำคัญเกี่ยวกับความหมายของการประเมินแต่ละด้านและแต่ละตัวชี้วัด พร้อมทั้งระดับคุณภาพและหลักฐานร่องรอยในการพิจารณาประเมินแต่ละตัวชี้วัดแบบบันทึกการประเมิน และวิธีการประเมิน
รายละเอียดตามที่ได้กล่าวมานับเป็นข้อมูลสำคัญยิ่งที่ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครู และบุคลากรที่เกี่ยวข้องทุกระดับ จำเป็นต้องศึกษาและทำความเข้าใจเพื่อให้สามารถดำเนินการได้อย่างถูกต้องและเป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยสำนักงาน ก.ค.ศ. เชื่อมั่นว่า หากข้าราชการครูได้ดำเนินการจัดการเรียนการสอน บริหารจัดการชั้นเรียน และพัฒนาตนเองและวิชาชีพ ได้ตามเกณฑ์การประเมินที่กำหนด จะสามารถสร้างความก้าวหน้าในวิชาชีพ และยกระดับคุณภาพผู้เรียนและคุณภาพการศึกษาได้อย่างเป็นรูปธรรม
พินิจศักดิ์ สุวรรณรังค์
เลขาธิการ ก.ค.ศ.
เผยแพร่ทางคอลัมน์ “สถานี ก.ค.ศ.”
หนังสือพิมพ์มติชนฉบับวันที่ 13 พฤศจิกายน 2560
ที่มา เว็บไซต์สำนักงาน ก.ค.ศ. วันที่ 20 พฤศจิกายน 2560