ประธานคณะมนตรีปฏิรูปการศึกษาภาคประชาชน แนะนายกฯใช้ม.44 ออกกฎหมายการบริหารโรงเรียนรัฐโดยภาคเอกชน ถ้าไม่ใช้โครงการพับบลิค สกูล เป็นได้แค่นโยบายลอยลม
วันนี้ (13 พ.ย.) ดร.รุ่ง แก้วแดง ประธานคณะมนตรีปฏิรูปการศึกษาภาคประชาชน กล่าวว่า ตามที่ที่ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปเพื่อรองรับการปรับเปลี่ยนตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้มีมติให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) และภาคเอกชน ดำเนินโครงการพับบลิค สกูล (Public School) นั้น ตนเห็นด้วย ซึ่งการบริหารแบบนี้หลายประเทศทำและแก้ปัญหาต่างๆได้เยอะ แต่เชื่อว่าไทยทำไม่ได้ เพราะหน่วยงานต้นสังกัดของสถานศึกษา ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และ สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.)จะไม่ยอมปล่อย เห็นได้จากที่ผ่านมา พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 มาตรา 12 เปิดโอกาสให้สังคม ชุมชนมาร่วมจัดการศึกษา แต่หน่วยงานต้นสังกัด ก็จะมีการกำหนดระเบียบต่างๆจนไม่สามารถดำเนินการได้
“นายกฯมีเจตนาดี พูดดี แต่ไม่เข้าใจวัฒนธรรมของคนศธ. ดังนั้น ผมจึงคิดว่าทำไม่ได้ ยกเว้นมีการกำหนดโทษว่าถ้าไม่ทำจะถูกลงโทษฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 157 ที่สำคัญจะต้องมีการออก พ.ร.บ.ว่าด้วยการบริหารโรงเรียนรัฐโดยภาคเอกชนขึ้นมาโดยเฉพาะ และมีการกำหนดรายละเอียดว่าใครเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติในการบริหาร การประเมินผล การตรวจสอบจะทำอย่างไร ครูในโรงเรียนที่มีอยู่เดิมจะไปไหน ตลอดจนการใช้งบประมาณที่ให้แบบเป็นก้อน เพราะการยกอะไรของรัฐให้เอกชนเข้ามาดำเนินการต้องออกเป็นกฎหมาย เงินรัฐจะใช้แค่บาทเดียว ก็ต้องมีระเบียบและกฎหมายรองรับถ้าไม่มี คงไม่มีใครกล้าเอาหัวเข้ามาเสี่ยง และเรื่องนี้จะกลายเป็นนโยบายรายวันที่เกิดมาแล้วก็ตายเหมือนหลายๆนโยบายที่ทำไม่ได้จริง” ดร.รุ่ง กล่าวและว่า หาก พล.อ.ประยุทธ์ ต้องการเริ่มดำเนินโครงการพับบลิค สกูล นำร่องจำนวน 77 แห่งทันทีในปีการศึกษา2561 นายกฯต้องใช้อำนาจหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2557 (ฉบับชั่วคราว) ออกกฎหมายการบริหารโรงเรียนรัฐโดยภาคเอกชนขึ้นมา
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันจันทร์ที่ 13 พฤศจิกายน 2560