รมว.ศึกษาธิการ ปลื้มผลงานโครงการประชารัฐ 1 ปีช่วยพัฒนาคุณภาพการศึกษา สร้างเด็กเก่งและครูมืออาชีพหลายแสนคน พร้อมหวังให้ประชารัฐช่วยยกระดับคะแนนพิซ่าเด็กไทย ปี 2018 ด้วย
วันนี้ (13 พ.ย.) ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ จัดประชุมเชิงปฎิบัติการโครงการผู้นำเพื่อการพัฒนาการศึกษาที่ยั่งยืน ครั้งที่ 4 ตามโครงการสานพลังประชารัฐด้านการศึกษาขั้นพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำ โดย นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ ในฐานะหัวหน้าทีมภาครัฐ คณะทำงานด้านการศึกษาพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำ ปาฐกถาพิเศษหัวข้อ "สานพลังประชารัฐเพื่อการศึกษาที่ยั่งยืน" ว่า โครงการสานพลังประชารัฐเป็นองค์ประกอบสำคัญที่เข้ามาช่วยเป็นส่วนหนึ่งของการปฎิรูปการศึกษา และการดำเนินโครงการนี้ก็เดินหน้ามาครบ 1 ปีแล้วผลตอบรับเป็นที่น่าพอใจถือเป็นการเปลี่ยนแปลงการศึกษาครั้งใหญ่ในการดึงภาคเอกชนเข้ามาช่วยจัดการศึกษา และแม้การดำเนินการโครงการนี้ที่ผ่านมาจะมีเสียงสะท้อนว่าภาคเอกชนจะเข้ามาหาผลประโยชน์กับการศึกษา แต่ก็ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าความร่วมมือในการสานพลังประชารัฐมีทิศทางการดำเนินชัดเจนทั้งการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษายกระดับให้นักเรียนได้เข้าถึงไอซีทีและสื่อมัลติมีเดียใน 39,829 ห้องเรียนอัจฉริยะ พัฒนาคุณภาพคนโดยการสร้างครูมืออาชีพ 36,397 คน และสร้างเด็กเก่ง 749,349 คน รวมถึงเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันส่งเสริมการจัดการศึกษาด้านทักษะวิชาการและทักษะวิชาชีพ ซึ่งภาคเอกชนมีความตั้งใจที่จะมาช่วยยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างแท้จริง เพราะเรื่องการปฎิรูปการศึกษาชาวบ้านไม่ได้มองว่าเราจะปรับโครงสร้างไปอย่างไร แต่ชาวบ้านสนใจว่าลูกหลานได้เรียนในโรงเรียนที่มีคุณภาพ มีสื่อการสอนทันสมัย และการเรียนกับครูเก่งๆหรือไม่
"การปฎิรูปการศึกษาจะสำเร็จได้แบ่งเป็น 3 ระดับ คือ ช้า กลาง เร็ว หากปฎิรูปการศึกษาช้าจะอยู่ที่ระยะเวลา 30 ปี กลาง 20 ปี และเร็ว 10 ปี แต่หากเราสามารถปฎิรูปการศึกษาให้เห็นผลสำเร็จภายได้ภายใน 10 ปีก็จะก่อให้เกิดการพัฒนาประเทศในระยะยาวถึง 35 ปี อีกทั้งการปฎิรูปการศึกษาที่สำเร็จของหลายๆประเทศเกิดการกระตุ้นจากหน่วยงานภายนอก ดังนั้นโครงการประชารัฐก็มีทิศทางอย่างชัดเจนที่เข้ามาช่วยหระตุ้นการจัดการศึกษาให้บรรลุเป้าหมาย" รมว.ศธ.กล่าวและว่า นอกจากนี้โครงการประชารัฐจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยเราขับเคลื่อนยกระดับโครงการประเมินผลนักเรียนนานาชาติ หรือ พิซ่า ในปี 2018 ด้วย
ด้านนายศุภชัย เจียรวนนท์ หัวหน้าทีมภาคเอกชน โครงการสานพลังประชารัฐ ด้านการศึกษาพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำ กล่าวว่า ภาคเอกชนได้ขับเคลื่อนโครงการคอนเน็กซ์-อีดี ตามยุทธศาสตร์ 10 ข้อของโครงการสานพลังประชารัฐด้านการศึกษาขั้นพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำ 1.ความโปร่งใสของข้อมูลสถานศึกษา 2.กลไลการตลาดและการมีส่วนร่วมของชุมชน 3.การพัฒนาและส่งเสริมผู้นำรุ่นใหม่ 4.การเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของสถานศึกษา 5.หลักสูตรการเรียนการสอนที่มุ่งเน้นให้นักเรียนเป็นศูนย์กลาง 6.พัฒนาผู้บริหารสถานศึกษาและครูผู้สอน 7.การยกระดับทักษะภาษาอังกฤษ 8.การปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรม 9.สร้างมาตรการจูงใจด้านสิทธิประโยชน์และการมีส่วนร่วมจากผู้เชี่ยวชาญทั้งในประเทศและต่างประเทศ และ 10.ศูนย์กลางเทคโนโลยีแห่งอนาคตในีะดับภูมิภาค ทั้งนี้ในปี 2561 แนวทางในการดำเนินงานในโครงการดังกล่าวจะมุ่งเน้นเชื่อมโยงการทีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน โดยจะส่งเสริมดึงศักยภาพของครู เด็ก ผู้ปกครอง และชุมชน สู่การค้นคว้าองค์ความรู้ ไปสู่การจัดการศึกษาในศตวรรษที่ 21
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันจันทร์ที่ 13 พฤศจิกายน 2560