ใกล้จะเรียนจบแล้ว หลายคนคงกำลังมองหาที่ฝึกงานดี ๆ อยู่ใช่หรือเปล่า เพราะเกรดสูง ๆ อย่างเดียวอาจจะไม่ได้ช่วยให้ได้งานที่ชอบหลังเรียนจบ ดังนั้นการฝึกงานจึงเปรียบเสมือนใบเบิกทาง เพราะมีการสำรวจตลาดการทำงานและกฎเกณฑ์ของผู้ประกอบการหลายแห่ง ซึ่งจาก jobsDB พบว่านายจ้างหรือบริษัททั้งหลายนั้นมองหาคนที่มีประสบการณ์มากถึง 75% เลยละ ซึ่งเป็นเปอร์เซ็นต์ที่สูงมาก ๆ น้อง ๆ นักศึกษาส่วนใหญ่เลยต้องรีบหาที่ฝึกงานทันทีเมื่อใกล้จบ และทุกวันนี้ก็ถือว่าทางมหาวิทยาลัยได้อำนวยความสะดวกในการฝึกงานให้กับน้อง ๆ จริง ๆ เพราะนอกจากน้อง ๆ จะหาที่ฝึกงานเองได้แล้ว ทางมหาวิทยาลัยยังมีโครงการสหกิจศึกษาที่เป็นความร่วมมือระหว่างบริษัทหรือผู้ประกอบการกับทางมหาวิทยาลัยด้วย เมื่อมีทางเลือกอย่างนี้แล้ว น้อง ๆ นักศึกษาหลายคนก็อาจจะยังสับสนอยู่ใช่ไหมว่าต้องหาหรือเลือกที่ฝึกงานยังไง ถึงจะโดนใจและเหมาะกับเรา วันนี้
iPrice ก็ได้รวบรวมข้อพิจารณาดี ๆ มาแนะนำกันดังนี้
1. ตรงเป้าหมาย อันดับแรกเลย น้อง ๆ นักศึกษาต้องสำรวจตัวเองก่อนว่าตัวเองสนใจธุรกิจด้านไหน เป้าหมายในการฝึกงานคืออะไร อยากเรียนรู้ด้านไหน ซึ่งที่ฝึกงานที่น้อง ๆ จะสมัครไปหรือหานั้นต้องตอบโจทย์เหล่านี้ได้และเป็นสิ่งที่น้อง ๆ อยากเรียนรู้จริง ๆ เช่น ถ้าสนใจงานด้านการตลาดก็ให้ไปฝึกบริษัทที่ทำธุรกิจประเภทนี้โดยเฉพาะ ไม่ใช่เลือกไปฝึกที่ไหนก็ได้ เพราะจะทำให้การฝึกงานของน้อง ๆ ดูไร้จุดหมายและยากที่จะต่อยอดในอนาคต
2. เบี้ยเลี้ยง แน่นอนว่าการฝึกงานนั้นมีทั้งที่ที่ให้เบี้ยเลี้ยงและฝึกงานฟรี ให้น้อง ๆ ถามตัวเองดูก่อนว่าเบี้ยเลี้ยงสำคัญกับตัวเราไหม หรือเน้นประสบการณ์มากกว่า ซึ่งในปัจจุบันก็มีทั้งที่ฝึกงานฟรี มีเบี้ยเลี้ยงให้เล็กน้อย แล้วก็มีเบี้ยเลี้ยงมากให้เลือกกัน ซึ่งหากเบี้ยเลี้ยงสำคัญกับน้อง ๆ ก็ให้เลือกสถานที่ฝึกงานที่มีเบี้ยเลี้ยงไว้ก่อน แต่ถ้าอยากเน้นการเรียนรู้งานในองค์กรและเรื่องเบี้ยเลี้ยงไม่ใช่ปัญหานั้นก็ให้เลือกสถานที่ฝึกงานที่ให้ประสบการณ์จริง ๆ ได้เลย เพราะถึงแม้ว่าจะอดเรื่องเบี้ยเลี้ยงแต่ถ้าตั้งใจฝึกจนเสร็จก็คุ้มค่าแน่นอน
3. ที่พักและค่าเดินทาง สำหรับเรื่องที่พักและค่าเดินทางก็ถือเป็นสิ่งที่ควรพิจารณาการหาที่ฝึกงานเช่นกัน อย่าลืมศึกษาข้อมูลให้ละเอียดว่าการเดินทางในแต่ละวันนั้นต้องใช้ค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ กับข้าวแพงไหม หรือจำเป็นต้องเช่าหอใหม่หรือเปล่า ซึ่งแน่นอนต้องเป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่เกินกำลังของน้อง ๆ และครอบครัวมากจนเกินไป น้อง ๆ จะได้ฝึกงานอย่างสบายใจ ไม่เดือดร้อน ไม่พะวงหน้าพะวงหลัง แล้วก็เก็บเกี่ยวความรู้ในด้านต่าง ๆ ขณะฝึกงานได้อย่างเต็มที่ เพราะถ้าหากมีเรื่องให้เครียด ก็คงจะฝึกงานแบบไม่มีความสุขสักเท่าไหร่ จริงไหมละ
4. สอบถามรุ่นพี่ อย่าลืมสอบถามรุ่นพี่เกี่ยวกับที่ฝึกงานด้วยว่าสถานที่นี้มีรุ่นพี่หรือเพื่อน ๆ ของรุ่นพี่เคยฝึกงานหรือเปล่า แล้วผู้ประกอบการเป็นยังไง โอเคไหม จะได้แน่ใจว่าเมื่อไปฝึกงานแล้วจะได้ฝึกทุก ๆ ด้าน ไม่ใช่โดนใช้แค่ถ่ายเอกสารอย่างเดียว เพราะถ้าเป็นอย่างนั้นจริง น้อง ๆ นักศึกษาก็คงจะไม่ได้ใช้ทักษะที่มีอย่างเต็มประสิทธิภาพ แล้วก็เก็บเกี่ยวประสบการณ์ขณะฝึกงานและไม่เป็นการเสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์
ทั้งนี้เมื่อหาที่ฝึกงานและมีโอกาสเข้าไปฝึกงานในที่ที่ชอบแล้วก็เหมาะกับตัวเอง หากน้อง ๆ นักศึกษาชอบสถานที่ฝึกงานแล้วอยากทำงานที่บริษัทหรือทำงานกับผู้ประกอบการนั้น ๆ ต่อ ก็อย่าลืมตั้งใจเรียนรู้งานให้ดี อาสาและรับหน้าที่เพิ่มเติมเป็นประจำ เพื่อให้ทางบริษัทเห็นถึงความพยายามและความกระตือรือร้นของน้อง ๆ อย่าลืมแสดงความคิดเห็นและเสนอแนวทางการแก้ปัญหาเมื่อมีโอกาสด้วยความมั่นใจและนอบน้อมถ่อมตน เพราะบางทีความคิดเห็นของเราอาจจะมีประโยชน์ก็ได้ แสดงความเคารพต่อผู้ใหญ่หรือพี่ ๆ ในที่ทำงานและกล่าวทักทายทุกครั้งที่เจอกัน จากนั้นก็สร้างผลงานให้เป็นที่น่าจดจำ ทางบริษัทหรือองค์กรจะได้เห็นศักยภาพของน้อง ๆ และรู้ว่าน้อง ๆ ก็มีความรับผิดชอบงานให้สำเร็จได้ สุดท้าย อย่าลืมรักษาคอนเน็คชั่นไว้ให้ดี เนื่องจากการสร้างความสัมพันธ์กับพี่ ๆ ก็เพิ่มโอกาสการได้งานของที่ที่น้อง ๆ ฝึกงานได้เช่นกัน เมื่อพี่ ๆ นัดไปทานข้าวหรือสังสรรค์ก็ไม่ควรปฏิเสธและเมื่อฝึกงานเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็อย่าเงียบหายไป ควรติดต่อกับพี่ ๆ พร้อมกับถามสารทุกข์สุกดิบเป็นประจำ เพราะการฝึกงานนั้นนอกจากจะช่วยให้น้อง ๆ ได้เปิดโลกเรียนรู้เรื่องงานแล้ว ยังเปิดประสบการณ์ให้เราได้เรียนรู้และรู้จักคนใหม่ ๆ ด้วย ดังนั้นเมื่อได้ที่ฝึกงานแล้ว ถ้าอยากมีโอกาสได้งานทำต่อที่นั่นก็อย่าลืมนำวิธีเหล่านี้ไปใช้ดู รับรองว่าน้อง ๆ จะดูน่ารักน่าเอ็นดูสำหรับพี่ ๆ และมีโอกาสกลับมาทำงานที่นี่หลายเท่า
ที่มาบทความจาก ipricethailand.com