ถกบอร์ดขับเคลื่อนฯสางปม ม.53
นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ ให้สัมภาษณ์ว่า จากปัญหาการบริหารงานบุคคลในรูปแบบของคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) จนเกิดปัญหาการบรรจุข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา เรื่องนี้เป็นกรณีศึกษาที่ต้องแก้ไขปัญหาไปทีละเปาะ แต่คงไม่ไปแก้ไขคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพราะการมี กศจ.ก็เป็นเจตนาที่ดีเพื่อให้มีการบูรณาการร่วมกันกับเขตพื้นที่ ก็ต้องมาดูว่าเป็นเฉพาะเขตเดียวหรือเหมือนกันหมด ถ้าเช่นนั้นก็แสดงว่าบูรณาการไม่ได้หรือแบ่งงานไม่ถูก นอกจากนี้ตามคำสั่งของ คสช.ระบุให้มีศึกษาธิการภาค (ศธภ.) 18 ภาค แต่นายกรัฐมนตรีต้องการให้เหลือ 6 ภาค เพื่อให้สอดรับกับภูมิประเทศ และขณะนี้มีปัญหาว่าคนที่ได้เป็นศึกษาธิการภาคไปนั่งไม่กี่เดือนแล้วขอย้ายมาเป็นผู้ตรวจราชการ โดยให้เหตุผลว่าไม่ค่อยมีงานทำ จึงทำให้ตำแหน่ง ศธภ.ระดับ 10 ว่างลง และคนที่เป็นรอง ศธภ.ก็อยากสไลด์ขึ้นมาระดับ 10 อัตโนมัติ
“ในการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ผมเคยเตือนไว้ว่าการย้าย ศธภ.จะเปิดช่องว่างให้คนขึ้นระดับ 10 โดยการสไลด์ หรือเลื่อนตำแหน่งขึ้นมาอัตโนมัติ นี่คือความไม่เป็นธรรมาภิบาล สร้างความไม่เป็นธรรม เพราะคนที่ย้ายมาเป็นรอง ศธภ.ก็ทำงานไม่กี่เดือน จึงสั่งให้ชะลอการแต่งตั้งตำแหน่ง ศธภ.ที่ว่างอยู่ และให้รักษาราชการไปก่อน เจตนาของตนอยากให้ปฏิบัติหน้าที่ไปก่อน เพื่อให้มีประสบการณ์ เข้าใจงานของตัวเอง เพราะการโตทางราชการแบบสายด่วนเร็วเกินไป ทำให้ไม่มีประสบการณ์และความไม่เป็นธรรม และอนาคตอาจจะทบทวนด้วยว่า ศธภ.มีความจำเป็นแค่ไหน”
รมว.ศึกษาธิการกล่าวและว่า ส่วนการแก้ไขปัญหาตามมาตรา 53 พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 นั้น ตนได้สอบถามไปยังทีมกฎหมายของสำนักนายกรัฐมนตรี แจ้งว่าให้หารือในคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค ซึ่งกำลังรอว่าจะนัดประชุมเมื่อใด อย่างไรก็ตาม การเสนอแต่งตั้งโยกย้ายก็มาจากเขตพื้นที่การศึกษาอยู่แล้ว กศจ.แค่มาแทน อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาที่ถูกยุบ กระบวนการพิจารณาทุกอย่างยังเป็นเหมือนเดิมคือเสนอจากข้างล่างขึ้นมา.
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 13 พฤศจิกายน 2560