ศธ.ให้เอกชนช่วยรัฐจัดการศึกษาเด็ก พร้อมขยายเวลาลดหย่อนภาษี 2 เท่า เริ่มทันทีปีการศึกษา 2561 นำร่องจังหวัดละ 1 โรงเรียน
วันนี้(13 พ.ย.) นพ . ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ตามที่ที่ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปเพื่อรองรับการปรับเปลี่ยนตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้มีมติให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) และภาคเอกชนดำเนินโครงการพับบลิค สกูล(Public School )จะเริ่มทันทีในปีการศึกษา 2561 นำร่องจังหวัดละ 1 โรงเรียน นั้น การให้อิสระโรงเรียนบริหารจัดการร่วมกับภาคเอกชน ในรูปแบบนิติบุคคลจะได้ผลต่อเมื่อบริหารบุคคลได้จริง ครูเก่งๆ มีโอกาสเข้ามาสอน มีระบบค่าตอบแทนที่ดี มีระบบการบริหารงานที่ดี ซึ่งต้องปลดล็อคในหลายจุด เช่น ปรับแก้กฎ ระเบียบ และหลักเกณฑ์ต่าง ๆที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานบุคคล เป็นต้น ทั้งนี้ เบื้องต้นจะเปิดโอกาสให้โรงเรียนที่มีปัญหาในการจัดการศึกษา หรือ โรงเรียนด้อยโอกาสก่อน โดยภาคเอกชน จะเป็นผู้คัดเลือกโรงเรียนที่จะเข้าไปสนับสนุน และเสนอให้คณะกรรมการอำนวยการซึ่งมีนายการุณ สกุลประดิษฐ์ ปลัด ศธ. เป็นประธาน และ ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการสภาการศึกษา เป็นเลขานุการ ดำเนินการคัดเลือกโรงเรียนที่เหมาะสม เพื่อให้เชื่อมโยงกับข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาต่อไป
ด้าน ดร.ชัยพฤกษ์ กล่าวว่า แนวทางการขับเคลื่อนในอนาคต โรงเรียนจะแบ่งเป็น โรงเรียนที่รัฐมีบทบาท 100% โรงเรียนที่เอกชนมีบทบาท 100% และโรงเรียนที่เอกชนเป็นหุ้นส่วนสนับสนุน โดยนำโมเดลต่างๆมาประยุกต์ใช้ เช่น โรงเรียนประชารัฐ โรงเรียนเอกชนการกุศล และโรงเรียนรูปแบบที่จะเกิดขึ้นใหม่ คือ โรงเรียนนิติบุคคล หรือ พับบลิค สกูล ซึ่งเปิดโอกาสให้ภาคส่วนต่างๆ เข้ามาบริหารโรงเรียนรัฐบาลโดยรัฐยังคงเป็นเจ้าของ และมีการประเมินเป็นระยะ ทั้งนี้ สำหรับภาคเอกชนที่เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาโรงเรียนนิติบุคคล มีแนวทางจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.)ขยายเวลาการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี ในการบริจาคเงิน หรือทรัพย์สินสามารถนำไปลดหย่อนภาษี 2 เท่าของจำนวนที่จ่ายจริงไม่เกินร้อยละ10 ของกำไรสุทธิ จากเดิมที่สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2561 ให้มีระยะเวลาเพิ่มขึ้น
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก เดลินิวส์ วันจันทร์ที่ 13 พฤศจิกายน 2560