“หมอธี” ชี้เจตจามีกศจ.หวังบูรณาการร่วมกันกับพื้นที่ ขู่หากบูรณาการร่วมกันไม่ได้อาจต้องทบทวนว่า จำเป็นต้องมีหรือไม่ พร้อมสั่งทบทวนศธภ.หากไม่จำเป็นก็ต้องล้มกระดาน
จากปัญหาการบริหารงานบุคคลในรูปแบบของคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด(กศจ.)กรณีบรรจุครูสาว 2 คน นั้น วันนี้(13พ.ย.)นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า เรื่องนี้ถือเป็นกรณีศึกษาซึ่งต้องหาทางแก้ไขปัญหา แต่คงไม่ไปแก้ไขคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 19/2560 เรื่องการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ เพราะการมีกศจ.ก็เป็นเจตนาที่ดี และศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) ก็ยังทำงานดีอยู่ อย่างไรก็ตาม คำสั่ง คสช. ฉบับที่19/2560 เดิมระบุให้มีศึกษาธิการภาค (ศธภ.)18 ภาค แต่นายกรัฐมนตรีต้องการให้เหลือ 6 ภาค เพื่อให้สอดรับกับการแบ่งประเทศเป็น 6 ภูมิภาค แต่ในทางปฏิบัติกลับพบว่า คนที่ได้เป็น ศธภ.ไปนั่งไม่กี่เดือน ก็ขอย้ายมาเป็นผู้ตรวจราชการ ศธ. โดยให้เหตุผลว่าไม่ค่อยมีงานทำ จึงทำให้ตำแหน่ง ศธภ.ซึ่งเป็นระดับ 10 ว่างลง แล้วคนที่เป็น รอง ศธภ.ก็อยากสไลด์ขึ้นมาระดับ10 อัตโนมัติ
“ในการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(ก.ค.ศ.) มีการเตือนแล้ว ว่า การย้ายของศธภ.จะเปิดช่องว่างให้คนขึ้นระดับ10 โดยการเลื่อนตำแหน่งอัตโนมัติ ซึ่งสิ่งนี้ ไม่เป็นธรรมาภิบาล เพราะคนที่ย้ายมาเป็นรอง.ศธภ.ก็ทำงานไม่กี่เดือน ผมจึงสั่งให้ชะลอการแต่งตั้งแล้วให้รักษาราชการไปก่อน เพราะอยากให้มีประสบการณ์เข้าใจงานของตัวเอง การเติบโตแบบด่วนเร็วเกินไปทำให้ไม่มีประสบการณ์แล้วอนาคตมันจะเกิดอะไรขึ้น ทั้งนี้ในอนาคตอาจต้องมีการทบทวนด้วยว่าศึกษาธิการภาคมีความจำเป็นหรือไม่ก็ได้” รมว.ศธ. กล่าวและว่า กรณีครูทั้งสองคนเป็นตัวอย่างที่ดี เพราะเจตนาการมีกศจ.ก็เพื่อให้มีการบูรณาการร่วมกันกับเขตพื้นที่ แต่ถ้าบูรณาการไม่ได้ก็ต้องถามว่าควรจะมีต่อไปหรือไม่ อย่างไรก็ตามเรื่องนี้มันลึกซึ้งคงต้องค่อยๆแก้ไขปัญหา
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก เดลินิวส์ วันจันทร์ที่ 13 พฤศจิกายน 2560 เวลา 08.23 น.