ศธ.คลอดแนวทาง Public School ปลดล็อกกฎระเบียบ งบบริหารบุคคล หลักสูตร เพื่อเปิดทางให้ รร.เป็นนิติบุคคลเต็มตัว "ชัยพฤกษ์" เผยเปิดโอกาสให้ภาคส่วนต่างๆ เข้ามาบริหาร แต่รัฐยังเป็นเจ้าของ มีคณะกรรมการอำนวยการโรงเรียน วางเป้า 77 โรง เริ่มภาคเรียนที่ 1/2561 ในโรงเรียนขนาดเล็กและกลาง รวมถึงวิทยาลัยอาชีวะ หารือร่วม "รมว.ศธ." อีกครั้งสัปดาห์หน้า "นายกฯ" ย้ำการทำงานจะต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน
นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการสภาการศึกษา (เลขาฯ สกศ.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูป เพื่อรองรับการปรับเปลี่ยนตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ครั้งที่ 1/2560 ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ว่า ที่ประชุมได้มีการรายงานผลการดำเนินการสนับสนุนการขับเคลื่อนการปฏิรูปเพื่อรองรับการปรับเปลี่ยนตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ที่เป็นข้อเสนอเบื้องต้นของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) โดยในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ก็ได้มีการเสนอเรื่องการพัฒนาและการสร้างสรรค์นวัตกรรมในรูปแบบใหม่ (Sandbox) เพื่อให้รูปแบบและกระบวนการบริหารจัดการโรงเรียนตอบสนองความเปลี่ยนแปลงของโลกในปัจจุบัน โดยได้มีการเสนอให้มีการจัดรูปแบบการจัดการศึกษาแบบใหม่ คือ Public School ซึ่งจะเป็นโรงเรียนนิติบุคคลที่มีอิสระ เปิดโอกาสให้ภาคส่วนต่างๆ เข้ามาบริหาร โดยรัฐบาลยังคงเป็นเจ้าของและมีการประเมินเป็นระยะๆ ซึ่งหน่วยงานภาคเอกชนที่เข้ามาจะต้องไม่มีการแสวงหากำไร แต่จะเข้ามาเพื่อช่วยยกระดับการศึกษาชาติ
ขณะเดียวกัน ก็จะมีการปลดล็อกกฎระเบียบเกี่ยวกับการจัดสรรงบประมาณ การบริหารงานบุคคล และหลักสูตรให้มีความคล่องตัวในการบริหาร แต่ต้องมีความรับผิดชอบต่อผลสัมฤทธิ์ และสามารถสร้างนวัตกรรมเกี่ยวเนื้อหาหลักสูตร ปรับรูปแบบการเรียนที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ ที่สำคัญโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าวจะได้รับการจัดสรรงบประมาณแบบเงินอุดหนุนทั่วไป ให้ในลักษณะเป็นเงินก้อนที่สามารถนำไปบริหารจัดการเรื่องต่างๆ ได้ ส่วนนักเรียนจะไม่มีการเก็บค่าเล่าเรียนและค่าใช้จ่ายอื่นๆ รวมทั้งต้องมีคณะกรรมการอำนวยการกำหนดนโยบาย หลักการ ขับเคลื่อน กำกับดูแล ซึ่งจะมีศึกษาธิการจังหวัด และผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (ผอ.สพท.) เป็นตัวแทนกระทรวงอยู่ในคณะกรรมการอำนวยการฯ ด้วย
นายชัยพฤกษ์กล่าวต่อว่า สำหรับโรงเรียนที่เข้าข่ายโครงการ Public School จะต้องเป็นโรงเรียนรัฐบาล ขนาดเล็กและกลาง ที่มีการจัดการเรียนการสอนในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา หรือวิทยาลัยอาชีวศึกษา โดยจะไม่เน้นโรงเรียนขนาดใหญ่ที่มีความพร้อมอยู่แล้ว เช่น โรงเรียนประจำจังหวัด ทั้งนี้ เบื้องต้นได้มีการตั้งเป้าที่จะจัดโรงเรียนต้นแบบ จำนวน 77 แห่ง และเริ่มในภาคเรียนที่ 1/2561 พร้อมทั้งกำหนดว่าผู้เรียนจะต้องมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่สูงขึ้น และสถานศึกษาที่เข้าร่วมจะต้องผ่านเกณฑ์การประกันคุณภาพภายนอกระดับดีมากภายใน 5 ปี รวมทั้งได้มีการคาดหวังว่าการเรียนการสอนจะต้องเกิดนวัตกรรมในการจัดการเรียนการสอน และยกระดับความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคส่วนต่างๆ อย่างไรก็ตาม เรื่องการดำเนินการในขณะนี้ได้มีการมอบหมายให้หน่วยงานต่างๆ ใน ศธ.ทำการบ้านแล้ว เช่น สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ปลดล็อกเรื่องการสรรหา บรรจุ แต่งตั้ง ของครูและผู้บริหาร ซึ่งในส่วนของครูอาจจะมีการเปิดโอกาสให้ครูสามารถเลือกสถานภาพได้ 2 รูปแบบ คือ ยังคงเป็นข้าราชการ หรือเป็นพนักงานของโรงเรียน สำนักงานปลัด ศธ.ดูแลเรื่องงบ และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ดูแลเรื่องหลักสูตร ทั้งนี้ จะประชุมหารือร่วมกับ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) อีกครั้งภายในสัปดาห์หน้า
"นายกฯ เห็นด้วยที่จะให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมในการจัดการศึกษา แต่ขณะเดียวการบริหารของโรงเรียนในรูปแบบใหม่ก็จะต้องสอดคล้องกับระบบการศึกษาปกติ และต้องการให้การจัดการศึกษาในลักษณะนี้ครอบคลุมทั่วประเทศ มีการจัดการศึกษาทั้งสายสามัญและอาชีพ มีความหลากหลายและเป็นรูปธรรม และยังย้ำว่าการทำงานจะต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน" เลขาฯ สกศ.กล่าว.
ขอบคุณที่มาเนื้อหาจาก หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันที่ 9 พฤศจิกายน 2560