กระทรวงแรงงานชี้ตลาดแรงงานไทยต้องการแรงงานที่จบสายอาชีพเป็นหลัก แนะเด็กไทยเปลี่ยนทัศนคติการเลือกเรียน ป้องกันการตกงาน
เมื่อวันที่ 9 พ.ย. นายอนุรักษ์ ทศรัตน์ อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กล่าวว่า ในช่วงเดือนก.ย.ที่ผ่านมา กกจ. ได้รับแจ้งความต้องการแรงงานจากนายจ้างและสถานประกอบการว่าต้องการแรงงานเป็นจำนวน 32,128 อัตรา ซึ่งต้องการแรงงานเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2559 จำนวน 2,038 อัตรา ทั้งนี้พบว่าอุตสาหกรรมที่มีความต้องการแรงงานมากที่สุด คือ อุตสาหกรรมการผลิต จำนวน 12,245 อัตรา รองลงมาคือ การขายส่ง การขายปลีก ซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์ จำนวน 8,338 อัตรา กิจกรรมการบริหารและบริการสนับสนุน จำนวน 2,109 อัตรา ที่พักแรมและบริการด้านอาหาร จำนวน 1,892 อัตรา และการก่อสร้าง จำนวน 1,188 อัตรา โดยนายจ้างและสถานประกอบการแจ้งว่าต้องการแรงงานที่จบการศึกษาในระดับระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ(ปวช.)-ประกาศนียบัตร วิชาชีพชั้นสูง (ปวส.)และอนุปริญญามากที่สุดถึงร้อยละ 34.13 รองลงมาคือระดับมัธยมศึกษา ร้อยละ 31.88 ระดับประถมศึกษาและต่ำกว่า ร้อยละ 22.39 ปริญญาตรีและสูงกว่าเพียงร้อยละ 11.60
“จากความต้องการแรงงานดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า การเรียนในสายอาชีพเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานเป็นอย่างมาก ทั้งนี้เพื่อรองรับต่อภาคอุตสาหกรรม จึงอยากให้นักเรียน นักศึกษา ปรับเปลี่ยนทัศนคติ มุมมองต่อการเลือกศึกษาโดยหันมาเลือกเรียนในสายอาชีพเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน และตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ ทั้งนี้ เพื่อจะได้ไม่ตกงาน และสามารถสร้างอาชีพและรายได้ให้กับตนเอง นำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป “ นายอนุรักษ์ กล่าว.
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก เดลินิวส์ วันพฤหัสบดีที่ 9 พฤศจิกายน 2560