นายกฯเห็นชอบจัดการศึกษารูปแบบใหม่ เปิดโอกาสภาคเอกชนเข้ามาบริหารโรงเรียนรัฐเต็มตัว แถมรับงบฯจากรัฐเหมือนเดิม ตั้งเป้า 77 แห่งทั่วประเทศ เริ่มปีการศึกษาที่1/2561
วันนี้(8 พ.ย.)ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูป เพื่อรองรับการปรับเปลี่ยนตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ครั้งที่ 1/2560 ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบเบื้องต้นตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.)ได้เสนอ เรื่องการพัฒนาและการสร้างสรรค์นวัตกรรมในรูปแบบใหม่ (Sandbox) ที่ต้องการปรับรูปแบบและกระบวนการบริหารจัดการโรงเรียนที่ตอบสนองความเปลี่ยนแปลงของโลกในปัจจุบัน โดยก.พ.ร. จะร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)และภาคเอกชน ในการจัดรูปแบบการจัดการศึกษาแบบใหม่ คือ พับบลิค สกูล (Public School) ที่จะให้ภาคเอกชนเข้ามารับผิดชอบการบริหารสถานศึกษาของรัฐ โดยรัฐยังคงเป็นเจ้าของ ให้เอกชนบริหารสถานศึกษา 5 ปี และมีการประเมินเป็นระยะๆ ซึ่งภาคเอกชนที่เข้ามาจัดการศึกษานั้นจะต้องไม่มีการแสวงหากำไร
ดร.ชัยพฤกษ์ กล่าวต่อไปว่า ขณะเดียวกันก็จะมีการปลดล็อคกฏระเบียบเกี่ยวกับการจัดสรรงบประมาณ การบริหารงานบุคคล และหลักสูตรให้มีความคล่องตัวในการบริหาร แต่ต้องมีความรับผิดชอบต่อผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของเด็ก และสามารถสร้างนวัตกรรมเนื้อหาหลักสูตร ปรับรูปแบบการเรียนที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ ที่สำคัญโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าวจะได้รับการจัดสรรงบประมาณแบบเงินอุดหนุนทั่วไป ไม่มีการเก็บค่าเล่าเรียนและค่าใช้จ่ายอื่นๆจากนักเรียน มีการบริหารงานโดยคณะกรรมการอำนวยการกำหนดนโยบาย หลักการ ขับเคลื่อน กำกับดูแล ซึ่งจะมีศึกษาธิการจังหวัด และผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่ (ผอ.สพท.) เป็นตัวแทนกระทรวงอยู่ในคณะกรรมการอำนวยฯ ด้วย ทั้งนี้โรงเรียนที่เข้าข่ายโครงการ Public School จะเป็นโรงเรียนรัฐขนาดเล็กและกลาง หรือวิทยาลัยในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา ไม่เน้นโรงเรียนขนาดใหหญ่ที่มีความพร้อมอยู่แล้ว เช่น โรงเรียนประจำจังหวัด เบื้องต้นตั้งเป้าจัดโรงเรียนต้นแบบ จำนวน 77 แห่ง และเริ่มในภาคเรียนที่ 1/2561
“นายก ฯเห็นด้วยที่จะให้ภาคเอกชนเข้ามาจัดการศึกษา และการจัดการศึกษาต้องสอดคล้องกับระบบการศึกษาปกติ ครอบคลุมทั่วประเทศ มีการจัดการศึกษาทั้งสายสามัญและอาชีพ นายกฯยังย้ำว่าการทำงานจะต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน อย่างไรก็ตามในส่วนของศธ.ได้มอบหมายให้หน่วยงานต่างๆไปทำการบ้านแล้ว เช่น สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ปลดล็อคเรื่องการสรรหา บรรจุ แต่งตั้ง ของครูและผู้บริหาร ซึ่งในส่วนของครูอาจจะมีการเปิดโอกาสให้ครูสามารถเลือกสถานภาพได้ 2 รูปแบบ คือ ยังคงเป็นข้าราชการ หรือเป็นพนักงานของโรงเรียน สำนักงานปลัด ศธ. ดูแลเรื่องงบฯ และ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ดูแลเรื่องหลักสูตร ทั้งนี้จะประชุมหารือร่วมกับ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ อีกครั้งภายในสัปดาห์หน้า “ดร.ชัยพฤกษ์ กล่าว
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก เดลินิวส์ วันพุธที่ 8 พฤศจิกายน 2560 เวลา 18.18 น.
ปลดล็อกเปิดทางเอกชนบริหาร ร.ร.รัฐ
อัพเกรดคุณภาพสถานศึกษาเล็ก-กลาง-อาชีวะ ประเดิมปี 61
ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการสภาการศึกษา เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปเพื่อรองรับการปรับเปลี่ยนตามนโยบาย Thailand 4.0 ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ว่า ในส่วนกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ตามข้อเสนอเบื้องต้นของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) คือ เรื่องการพัฒนาและการรังสรรค์นวัตกรรมในรูปแบบใหม่ เพื่อให้เกิดรูปแบบการบริหารจัดการ ร.ร.ที่ตอบสนองการเปลี่ยนแปลงของโลกปัจจุบัน และเปิดช่องให้ภาคส่วนต่างๆเข้ามามีส่วนร่วมในการปรับปรุง พัฒนาหรือบริหารโรงเรียน ในรูปแบบ Public School หรือการบริหารจัดการใหม่ เป็นนิติบุคคลที่มีอิสระในการบริหารงานด้านคน เงิน วิชาการ โดยเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนที่สนใจเข้ามาบริหารจัดการ โดยรัฐยังเป็นเจ้าของ และมีการประเมินทุก 5 ปี มีการปลดล็อกกฎระเบียบต่างๆ ได้รับงบประมาณอุดหนุนเป็นก้อน สามารถจัดการเงินได้เอง ไม่มีการเก็บค่าเล่าเรียนหรือค่าใช้จ่ายอื่นๆ มีคณะกรรมการอำนวยการกำหนดนโยบาย ทั้งผู้บริหารสถานศึกษาก็จะมาจากการคัดเลือกของภาคเอกชนที่เข้ามาดูแล ร.ร.แห่งนั้น
“ร.ร.รัฐที่จะเข้าในรูปแบบนี้ จะเป็น ร.ร.ประถมหรือมัธยมขนาดกลางและเล็ก และวิทยาลัยอาชีวศึกษา ไม่เน้น ร.ร.ขนาดใหญ่ที่มีชื่อเสียงอยู่แล้ว ตั้งเป้า ร.ร.ต้นแบบ 77 แห่งทั่วประเทศ และจะเริ่มบริหารรูปแบบใหม่ในเดือน พ.ค.ปีการศึกษา 2561 ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์เห็นด้วยกับรูปแบบบริหารใหม่นี้ และอยากให้จัดระบบให้สอดรับกับระบบปกติที่มีอยู่” ดร.ชัยพฤกษ์กล่าวและว่า ศธ.มอบหมายให้คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาปลดล็อกกฎระเบียบการสรรหา บรรจุ และความก้าวหน้าของครูและผู้บริหาร โดยครูสามารถเลือกสถานภาพได้ว่าจะเป็นข้าราชการครูต่อไปหรือเป็นพนักงานของ ร.ร. ส่วนสำนักงานปลัด ศธ. ดูแลงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ดูแลเรื่องวิชาการ.
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก ไทยรัฐ วันที่ 9 พฤศจิกายน 2560