เวทีประชุมผู้นำเยาวชนระดับโลก One Young World 2017
หนุนคนรุ่นใหม่ “ฝัน-คิด-ลงมือทำ” เพื่อนำโลกไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
“พวกคุณคือคนรุ่นที่มีพลังมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ชาติ เพราะคุณเข้ามาอยู่ในโลกใบนี้พร้อมกับพลังของเทคโนโลยีที่มีอยู่ในมือ ซึ่งไม่เคยมีคนรุ่นไหนมีมาก่อน หากคุณลงมือทำโดยใช้เทคโนโลยีและความคิดสร้างสรรค์ เราจะสามารถแก้ปัญหาต่างๆ ที่อยู่รอบตัวของเราได้ ดังนั้นคุณจะต้องจินตนาการ ฝันและสร้างโลกที่คุณต้องการ ซึ่งไม่ใช่โลกที่คุณได้รับมา คุณต้องสร้างโลกใบใหม่ในแบบของคุณ ด้วยการใช้พลังของเทคโนโลยีและพลังของความคิดสร้างสรรค์ที่มีอยู่ของทุกๆ คน”
เป็นคำกล่าวที่แสดงให้เห็นถึงความมั่นใจในตัวคนรุ่นใหม่และสร้างแรงบันดาลใจในการเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ให้ดียิ่งขึ้นของ “มูฮัมหมัด ยูนูส” ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ต่อหน้าผู้นำเยาวชนกว่า 1,500 คนจากทั่วโลก ในพิธีเปิดการประชุมสุดยอดผู้นำรุ่นใหม่ “One Young World Summit 2017” ณ กรุงโบโกตา ประเทศโคลอมเบีย เมื่อช่วงต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา
ซึ่งทาง “เครือเจริญโภคภัณฑ์” ภายใต้โครงการ “ซีพี สานฝัน ปันโอกาสสู่ผู้นำรุ่นใหม่” ได้สนับสนุนผู้นำรุ่นใหม่จากกลุ่มธุรกิจต่าง ๆ ในเครือเจริญโภคภัณฑ์จำนวน 15 คน และผู้นำเยาวชนจากองค์กรภายนอกอีก 5 คน รวม 20 คน เป็นตัวแทนจากประเทศไทยเข้าร่วมในการประชุมครั้งนี้ ที่จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “คิดเปลี่ยนโลก เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” โดยมีหัวข้อการพูดคุยเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในประเด็นปัญหาสำคัญ 5 ด้านของโลกที่เกิดขึ้นในขณะนี้ได้แก่ 1.ความยากจน 2.การศึกษา 3.สันติภาพและความปรองดอง 4.ความเป็นผู้นำ และ 5.สิ่งแวดล้อม ที่สอดคล้องกับนโยบายและความมุ่งมั่นของเครือเจริญโภคภัณฑ์ในการพัฒนาทั้งธุรกิจและสังคมไทยให้เติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน ภายใต้ค่านิยม 3 ประโยชน์คือ เพื่อประเทศชาติ เพื่อประชาชน และเพื่อองค์กร
“โลกวันนี้มีปัญหามากมายรุมล้อมอยู่ แต่เราก็สามารถสร้างโลกที่เราอยากจะอยู่ให้เกิดขึ้นได้ และนั่นคือโลกที่คนรุ่นใหม่จะต้องสร้างขึ้นมา วันนี้ผมอยากเห็นโลกที่ผมอยากอยู่ เป็นโลกที่มี 3 ศูนย์ คือความยากจนเป็นศูนย์ การไม่มีอาชีพเป็นศูนย์ และการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ หากเราสามารถช่วยกันสร้างได้ ก็เท่ากับว่าเราได้วางรากฐานของโลกใบใหม่ไว้ได้อย่างสมบูรณ์”
เป็นมุมมองของ “มูฮัมหมัด ยูนูส” กับสิ่งที่เรียกว่าเป็นต้นตอของปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน พร้อมกับขยายความต่อว่า โลกในวันนี้นั้นนับวันจะอยู่อาศัยได้ยากมากขึ้น โดยมีสาเหตุมาจากการกอบโกยความมั่งคั่งเอาไว้กับคนบางกลุ่ม ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นในสังคมมนุษย์
“วันนี้มีคน 8 คนบนโลกมีความมั่งคั่ง ที่มากกว่าความมั่งคั่งเกือบครึ่งหนึ่งของประชากรโลกจำนวน 4 พันล้านคน ไม่เพียงแค่นั้นแนวโน้มในเรื่องนี้กำลังเกิดเร็วขึ้นทุกวันและมีแน้วโน้มจะเป็นเช่นนี้ต่อไป ซึ่งไม่มีใครอยากอยู่บนโลกที่มีความมั่งคั่งอยู่เฉพาะที่ เราทุกคนต้องช่วยกันเปลี่ยนแนวโน้มนี้ เพราะนั่นไม่ใช่โลกที่เราทุกคนต้องการ ดังนั้นคุณต้องทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้ด้วยพลังของคุณรุ่นใหม่ในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น” มูฮัมมหมัด ยูนูส กล่าวสรุป
ด้าน “โคฟี อันนัน” อดีตรองเลขาธิการสหประชาชาติ กล่าวว่า วันนี้เราอยู่ในช่วงเวลาที่โลกกำลังมีปัญหามากที่สุด ข้อมูลจากการสำรวจเยาวชนกว่า 2 พันคนทั่วโลก พบว่าร้อยละ 60 ต้องอยู่อาศัยกับความหวาดกลัวจากปัญหาการก่อการร้าย ความขัดแย้ง การใช้อาวุธ การแบ่งขั้วแบ่งฝักฝ่าย และการเข่นฆ่ากัน โดยพบว่ารากฐานของความทุกข์ทรมานของคนในปัจจุบันก็คือความขัดแย้งที่รุนแรง ซึ่งนอกจากจะขโมยชีวิตและความเป็นอยู่ของผู้คนไปแล้วยังทำลายระบบเศรษฐกิจและสังคมที่มีอยู่อีกด้วย
“ทำไมความขัดแย้งจึงเกิดขึ้น? ถ้าเรามองภูมิทัศน์ของโลกในปัจจุบันจะเห็นว่า ปัจจัยทางการเมืองเป็นแรงขับเคลื่อนหลักที่ทำให้เกิดขยายผลลุกลามไปเป็นการขัดแย้งที่ติดอาวุธ ที่เกิดขึ้นจากปัญหาการเข้าถึงอำนาจทางการเมือง และระบบเศรษฐกิจที่ทรัพยากรไม่ได้ถูกแบ่งปันให้เกิดการเข้าถึงอย่างเท่าเทียม จึงทำให้มีช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนมากขึ้น ซึ่งทั้ง 2 ข้อนี้จะนำไปสู่แรงขับเคลื่อนให้เกิดความขัดแย้งอย่างที่สามคือ การกระจายของสังคมเป็นกลุ่มย่อยมีการแบ่งขั้วในสังคมมากขึ้น ในขณะที่ความเชื่อมั่นในระบบการปกครองเดิมลดลง เกิดการต่อต้านความสัมพันธ์ที่เคยเชื่อมโยงผู้คนต่างเชื้อชาติศาสนาและชนชั้น และนำไปสู่การทำลายความเป็นพหุนิยม ซึ่งเป็นสิ่งที่จะรักษาไว้ซึ่งสันติภาพ ความหลากหลายและความรุ่งเรืองของสังคมนั้นๆ”
นอกจากนี้อดีตรองเลขาธิการสหประชาชาติยังระบุอีกว่า สิ่งที่ทำให้ความขัดแย้งทั้งสามข้อที่กล่าวมานั้นมาบรรจบกันก็คือการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งนับได้ว่าเป็นภัยคุกคามที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเราทุกคนจะต้องเผชิญในวันนี้ ซึ่งส่งผลต่อสังคม การเมือง และความท้าทายด้านเศรษฐกิจ ที่ซับซ้อนและมีผลอย่างเฉียบพลันกว่าที่ผ่านมา ซึ่งการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นนั้นจะต้องใช้การแก้ไขในระดับท้องถิ่นและต้องมีความร่วมมือในระดับนานาชาติ รวมถึงมีการตอบสนองในระดับโลก โดยใช้วิธีทางการเมืองเพื่อแก้ปัญหาแทนการใช้กำลัง
“วันนี้เราทุกคนต้องการสันติภาพ แต่สันติภาพเป็นกระบวนการที่ซับซ้อน ผมเชื่อว่าสันติภาพอันยาวนานจะต้องเกิดขึ้นจากการประณีประนอมเพื่อสร้างและฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล กลุ่มคน รัฐ และสังคม ซึ่งเราจะต้องไม่สูญสิ้นความหวัง เราต้องการความหวังและผู้นำที่แข็งแกร่งด้วย ซึ่งคนรุ่นใหม่ทุกคนในที่นี้สามารถมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาของโลกได้ โดยเฉพาะเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์กรสหประชาชาติหรือ SDGs และข้อตกลงปารีสด้านสภาพภูมิอากาศจะเป็นแผนที่นำทางในการเดินหน้าต่อไป ซึ่งคนรุ่นใหม่ทุกคนจะต้องใช้ความมุ่งมั่น ความคิดสร้างสรรค์ และจินตนาการเพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์เหล่านั้นร่วมกัน” โคฟี อันนัน ระบุ
ทางฝั่งของศิลปินผู้เป็นตำนานและผู้ก่อตั้งองค์กร Live Aid “บ๊อบ เกลดอฟ” ได้ร่วมสร้างแรงบันดาลใจและฝากความหวังไว้กับผู้นำเยาวชนคนรุ่นใหม่จากทั่วโลกว่า ในประวัติการณ์ที่ผ่านมาเราไม่เคยประสบกับการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบที่กำลังจะเกิดขึ้นอย่างที่เห็นในทุกวันนี้ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วมาก แล้วเราก็ไม่สามารถที่จะแก้ปัญหาได้ เพราะแนวคิดต่างๆ ถูกนำเสนอจากผู้นำคนเก่าและความเชื่อแบบเก่าๆ ที่ไม่สามารถแก้ไขและรับมือกับความท้าทายที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในปัจจุบันได้
“ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้ทุกที่ซึ่งมีทั้งที่ดีและไม่ดี แต่ความเปลี่ยนแปลงจะดีได้ก็ต่อเมื่อตอบโจทย์และความต้องการของสังคม หากความคิดคือวัตถุดิบของการเปลี่ยนแปลง พวกคุณซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ก็คือผู้ที่จะนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงนั้น โลกนี้ต้องการสิ่งที่ดีที่สุดคือสันติภาพ สันติภาพจะเกิดขึ้นได้ถ้าเราสามารถขจัดความยากจนซึ่งเป็นรากฐานของสงคราม ความอดอยาก การทุจริต หรือการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ คนรุ่นผมอาจไม่ทันได้เห็นจุดสิ้นสุดของศตวรรษนี้ แต่พวกคุณทุกคนจะได้เห็น หากทุกคนต้องการที่จะอยู่รอด คุณจะต้องคิด และนี่คือสาเหตุที่ทุกคนได้มารวมกันที่นี่เพื่อหาทางที่จะไปต่อ อะไรที่คุณสามารถทำได้หรือฝันว่าทำได้ จงเริ่มทำ ความกล้าหาญคือพลัง และเราต้องการพลังอันวิเศษที่มีอยู่ในตัวของคนรุ่นใหม่ทุกๆ คนเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง” บ๊อบ เกลดอฟ กล่าว
โดยสาเหตุสำคัญที่ทุกฝ่ายต่างเชื่อมั่นว่าเยาวชนคนรุ่นใหม่จะสามารถเปลี่ยนแปลงโลกให้ดียิ่งขึ้นได้นั้น มาจากข้อมูลขององค์การสหประชาติที่พบตัวเลขที่น่าสนใจว่า ร้อยละ 50 ของจำนวนประชากรโลกในปัจจุบันนั้นมีอายุต่ำกว่า 30 ปี โลกของเราในวันนี้จึงเป็นเสมือนบ้านหลังใหญ่ที่มีสมาชิกกว่าครึ่งหนึ่งเป็นเยาวชน ดังนั้นในเวทีการประชุม One Young World Summit 2017 จึงได้ให้ความสำคัญกับการจุดประกายและเปลี่ยนพลังความคิดสร้างสรรค์ของเยาวชนคนรุ่นใหม่ให้กลายเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญในการสร้างความเปลี่ยนแปลง ด้วยการสร้างนวัตกรรม และสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ เพื่อร่วมกันทำให้โลกใบนี้ก้าวเดินไปสู่จุดมุ่งหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืนได้
“เยาวชนทุกคนไม่เด็กเกินไปที่จะเป็นผู้นำ และไม่แก่เกินไปที่จะเรียนรู้ การฟังเป็นก้าวสำคัญที่จะเตรียมความพร้อมให้พวกคุณทุกคนเป็นผู้นำ ผู้นำที่ดีคือผู้ฟังที่ดีและผู้นำที่ดีคือผู้ตามที่ดี ความเปลี่ยนแปลงก้าวแรกอาจจะเริ่มที่ระดับบุคคล แต่ก้าวเล็กๆ นี้จะนำไปสู่อนาคตที่ดีขึ้น เส้นทางสู่สันติภาพและการสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นกับโลกใบนี้อยู่ที่พวกคุณทุกคนที่จะเป็นผู้นำในการสร้างความแตกต่างให้เกิดขึ้น” อดีตรองเลขาธิการสหประชาชาติกล่าวทิ้งท้าย พร้อมกับฝากความหวังในการเปลี่ยนแปลงโลกให้ดียิ่งขึ้นไว้กับเยาวชนทุกคน.