คณะอนุกรรมการเด็กเล็ก ชง คณะกรรมการอิสระฯ ยกเลิกสอบเข้าป.1 ชี้ ยังเป็นเด็กเล็กหากต้องแข่งขันส่งผลพัฒนาการทางสมอง
วันนี้ (7 พ.ย.) รศ.ดารณี อุทัยรัตนกิจ ประธานคณะอนุกรรมการเด็กเล็ก เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการอิสระเพื่อปฎิรูปการศึกษา ว่า คณะอนุกรรมการเด็กเล็ก ได้เสนอประเด็นการพัฒนาเด็กเล็กให้คณะกรรมการอิสระฯพิจารณาใน 8 ประเด็น คือ
1.การจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการการปฐมวัยแห่งชาติ ให้เป็นส่วนราชการในสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา เพื่อรองรับการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การปฐมวัยแบบบูรณาการของคณะกรรมการการพัฒนาเด็กปฐมวัย (ก.พ.ป.)
2.ปรับทัศนคติของประชาสังคมเกี่ยวกับความรู้ความเข้าใจเรื่องการพัฒนาเด็กเล็ก
3.พัฒนาระบบฐานข้อมูลเลขบัตรประชาชนที่สามารถเชื่อมโยงได้ทุกระบบ
4.ปรับหลักสูตรการเรียนการสอนและการวัดประเมินผลในช่วงรอยเชื่อมต่อของเด็กก่อนวัยเรียนไปสู่วัยเรียนจนถึงอายุ 8 ปีระหว่างช่วงประถมศึกษาปีที่ 1-3 ให้สอดคล้องกับหลักการปฐมวัยไม่เน้นวิชาการใน 8 กลุ่มสาระแต่อยากให้เน้นการใช้จินตนาการการพัฒนาทักษะทางสมอง รวมถึงข้อเสนอที่ไม่อยากให้มีการสอบเข้าเรียนชั้นป.1 เพราะไม่อยากให้มีการแข่งขันจนเด็กเกิดความเครียด ซึ่งจะส่งผลต่อกล้ามเนื้อสมองของเด็กในวัยนี้
5.จัดสิทธิประโยชน์พื้นฐานของระบบสาธารณสุขและการศึกษาให้ครอบคลุมถึงความพร้อมในการเป็นพ่อแม่
6.มีครูและบุคลากรด้านการพัฒนาเด็กเล็กมีทักษะที่สอดคล้องกับหลักการดูแล โดยจะต้องมีวุฒิบัตรรับรอง
7.เด็กเล็กและเด็กก่อนวัยเรียนที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ เด็กพิการ และเด็กด้อยโอกาสเข้าถึงการศึกษาอย่างเท่าเทียม และ
8.เร่งรัด พ.ร.บ.การปฐมวัยแห่งชาติให้มีผลบังคับใช้ภายใน 1 ปี ทั้งนี้ข้อเสนอดังกล่าวเพื่อเป็นการปรับปรุงระบบและแนวทางการพัฒนาเด็กปฐมวัยให้มีคุณภาพแข็งแรง
ด้าน ศ.นพ.จรัส สุวรรณเวลา ประธานคณะกรรมการอิสระฯ กล่าวว่า ที่ประชุมได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.การปฐมวัยแห่งชาติที่คณะอนุกรรมการฯเสนอ แต่เห็นว่าเน้นในเรื่องเฉพาะของการศึกษาในขณะที่ ร่าง พ.ร.บ.การปฐมวัยแห่งชาติควรจะเป็นภาพรวมที่ดูแลครอบคลุมทั้งการพัฒนาและการศึกษาของเด็กปฐมวัย จึงขอให้คณะอนุกรรมการฯกลับไปพิจารณาเพิ่มเติม โดยศึกษาจากกฏหมายอื่นๆที่เกี่ยวข้อง และจัดทำร่างให้ครอบคลุมรัฐธรรมนูญด้วย
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก เดลินิวส์ วันอังคารที่ 7 พฤศจิกายน 2560 เวลา 16.30 น.