กรรมการอิสระฯ แย้มปฏิรูปการเรียนการสอนใหม่เน้นสมรรถนะ แทนเนื้อหาสาระ คิดตั้งสถาบันหลักสูตรการเรียนการสอนและคลังดิจิทัลแห่งชาติ เป็นหน่วยงานดูแลแทนกรมวิชาการเดิม
วันนี้(31 ต.ค.) ศ.นพ.จรัส สุวรรณเวลา ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการอิสระ ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาเรื่องปฏิรูปการเรียนการสอน ตามที่คณะอนุกรรมการจัดการเรียนการสอน ซึ่งมี ผศ.ดร.ยุวดี นาคะผดุงรัตน์ เป็นประธานเสนอ โดยปัญหาที่ชัดเจนที่สุดของการศึกษา คือ เรื่องคุณภาพ ซึ่งที่ประชุม ได้พิจารณาใน 4 ประเด็นหลัก คือ 1.การปรับคุณภาพการศึกษาให้ดีขึ้น โดยใช้วิวัฒนาการของดิจิทัลเข้ามาช่วยเป็นเครื่องมือและต้องมีการอบรมครูควบคู่ เพื่อไม่ให้เกิดช่องว่างทางการเรียนการสอน 2.หลักสูตรการเรียนการสอน ต้องมีการปรับจากหลักสูตรที่เน้นเนื้อหาสาระ เป็นหลักสูตรที่เน้นเรื่องสมรรถนะมากขึ้น เช่น สมรรถนะเรื่องการอ่านออกเขียนได้ สมรรถนะการคำนวณคณิตศาสตร์ที่เพียงพอสำหรับช่วงชั้นต่างๆ เป็นต้น และอาจจะให้มีสถาบันหลักสูตรการเรียนการสอนและคลังดิจิทัลแห่งชาติ เป็นหน่วยงานที่ดูแล แทนกรมวิชาการ ของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ที่ถูกยุบไป
ศ.นพ.จรัส กล่าวต่อไปว่า ประเด็นที่ 3.การสอบวัดความรู้และประเมินผลการศึกษา ต้องปรับการวัดผลให้วัดความสามารถทางสมรรถนะ แทนการวัดเนื้อหาที่เรียนมา เพราะที่ผ่านมาการสอบวัดผลการศึกษา เช่น การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือ โอเน็ต ก็ใช้การสอบแบบปรนัยที่เน้นเรื่องเนื้อหาสาระ ทำให้เด็กที่อยากสอบได้ต้องไปกวดวิชา และท่องจำ ซึ่งวิธีการสอบวัดผลเป็นวงจรที่เป็นตัวกำกับพฤติกรรมของเด็ก ดังนั้น ถ้าอยากให้พฤติกรรมของเด็กดีขึ้น ก็ต้องปฏิรูปที่การสอบ ทั้งนี้ การสอบที่เน้นการวัดสมรรถนะยังเป็นประโยชน์ต่อมหาวิทยาลัยด้วย เพราะมหาวิทยาลัยจะสามารถรู้ว่าเด็กเหมาะที่จะเรียนในคณะ หรือ สาขาที่เลือกเข้าเรียนหรือไม่ และ 4.เรื่องเด็กลักษณะพิเศษ คือ เด็กที่พิการทางกาย พิการทางสมอง โดยเฉพาะเด็กที่เรียนอ่อน หรือ เรียนช้า ซึ่งเด็กกลุ่มนี้ต้องการการดูแลเป็นพิเศษ ซึ่งการจัดการศึกษาที่หลากหลายจะต้องสามารถดูแลเด็กกลุ่มนี้ได้ด้วย เพราะที่ผ่านมาเรายังให้ความสำคัญกับเด็กกลุ่มนี้น้อยมาก
“คณะกรรมการอิสระฯ จะดูว่าการปฏิรูปการเรียนการสอนควรจะไปไหนทิศทางไหน พร้อมทั้งจะมีการกำกับไว้ในร่างพระพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ด้วย ซึ่งขณะนี้ได้มีการคิดและวางกรอบแล้ว และคาดว่าจะดำเนินการยกร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ให้แล้วเสร็จ ภายใน 1 ปี เพื่อที่จะได้มีเวลาดำเนินการในรายละเอียดเรื่องต่างๆเพิ่มเติม” ศ.นพ.จรัส กล่าว.
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก เดลินิวส์ วันอังคารที่ 31 ตุลาคม 2560