“บุญรักษ์” เตรียมวางแผนสอบพิซาถึงปี 2021 แจง ครูต้องปรับการเรียนการสอนในห้องเรียนแบบเข้ม เน้นสมรรถนะการอ่าน วิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์
วันนี้ (24 ต.ค.) ดร.บุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า ตามที่ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ มอบให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) วางแผนโครงการประเมินผลนักเรียนร่วมกับนานาชาติ หรือ พิซา ที่จะเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 2018 นั้น ตนได้มอบเป็นนโยบายไปแล้วว่าให้ถือเรื่องนี้เป็นเรื่องเร่งด่วนที่สำคัญ ซึ่งการสอบขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือ โออีซีดี เป็นการสุ่มตัวอย่างนักเรียนอายุ 15 ปี หรือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 จาก 65 ประเทศ โดยใช้ข้อสอบชุดเดียวกัน ดังนั้น เพื่อเตรียมความพร้อมในเรื่องนี้ สพฐ.จะปรับการเรียนการสอนของครูในห้องเรียนให้มีความเข้มข้นมากขึ้น โดยเฉพาะการพัฒนาสมรรถนะด้านการอ่าน วิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ซึ่งนอกจากครูจะเน้นเนื้อหาในกลุ่มสาระการเรียนรู้หลักแล้ว จะต้องเน้นสมรรถนะที่เป็นสากลด้วย เช่น ภาษาอังกฤษ ไอซีที รวมถึง การทำข้อสอบที่เป็นอัตนัย
“ผมไม่อยากให้ครูเน้นปรับการสอนในห้องเรียน แค่เพียงต้องมาตอบโจทย์การสอบระดับนานาชาติ หรือ การสอบอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่อยากให้เป็นวิถีปรับการสอนที่เข้มข้นอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะการทดสอบเด็กวันต่อวันว่าเด็กเข้าใจในบทเรียนที่ครูสอนไปหรือไม่” เลขาธิการ กพฐ.กล่าวและว่า ทั้งนี้ สพฐ.ไม่เพียงวางแผนรับมือการสอบพิซาในปี ค.ศ. 2018 เท่านั้น แต่ยังเตรียมวางแผนไปถึงการสอบพิซาในปี ค.ศ. 2021 ด้วย เนื่องจากในปีดังกล่าวจะมีการประเมินด้านความคิดสร้างสรรค์เกิดขึ้น ซึ่งถือเป็นโจทย์ที่ยากและท้าทาย.
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก เดลินิวส์ วันอังคารที่ 24 ตุลาคม 2560 เวลา 08.07 น.