ธ.ออมสิน แถลงทำข้อตกลงเงินกู้ ชพค.ใหม่ เปิดทางให้ลูกหนี้ NPLปรับโครงสร้างหนี้
ที่สำนักงานใหญ่ ธนาคารออมสิน วันที่ 19 ต.ค.60 นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผอ.ธนาคารออมสิน ได้เปิดแถลงข่าวว่า ตามที่สำนักงานส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา(สกสค.) ได้ยกเลิกสัญญากับธนาคารออมสิน โครงการเงินกู้ฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ชพค.) และฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา กรณีคู่สมรส (ชพส.) ซึ่งธนาคารออมสิน ได้หารือกับ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ แล้วว่า จะทำข้อตกลงใหม่ โดยจะยกเลิกการจ่ายเงินสนับสนุนพิเศษ 0.5-1% ที่ทางธนาคารจ่ายเข้ากองทุนสนับสนุนพิเศษและส่งเสริมความมั่นคง ตามโครงการสวัสดิการเงินกู้ ชพค.และ ชพส. เพื่อนำเงินส่วนนี้มาเปลี่ยนเป็นจัดสรรเฉลี่ยคืน (Cash Back) ให้แก่ครูที่ชำระหนี้ดีครบ 12 งวดติดต่อกัน ซึ่งจากการคำนวณคร่าว ๆ ครูแต่ละคน มีโอกาสได้รับจัดสรรเงินเฉลี่ยคืนปีละ ประมาณ 8,000-10,000 บาท ต่อมูลหนี้ 1,000,000บาท
นายชาติชาย กล่าวต่อไปว่า ส่วนกรณีที่ครูไม่ประสงค์จะนำเงิน ชพค.มาเป็นหลักประกัน ก็สามารถเปลี่ยนหลักประกันมาเป็นหลักทรัพย์อื่นได้ เช่น โฉนดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ที่มีมูลค่าไม่น้อยกว่า700,000บาท เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีครูเข้าโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตครูฯ ร่วมกับธนาคารออมสิน ทุกโครงการรวมกว่า 475,000 บัญชี เป็นเงินกว่า 400,000 ล้านบาท เป็นหนี้เสีย (NPL) ประมาณ 9,250 คน เป็นเงิน 5,432 ล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้ได้มีการยื่นฟ้องไปแล้ว 2,000 กว่าคน เหลืออีก 7,000 กว่าคน กำลังยื่นหนังสือทวงถามให้มาชำระหนี้ (โนติส)
ดังนั้น ทางธนาคาร ขอเชิญชวนครูที่มีปัญหาในการผ่อนชำระหนี้ หรือคนที่คิดว่าจะผ่อนชำระไม่ไหวให้มาติดต่อขอเข้าร่วมโครงการปรับโครงสร้างหนี้โดยตรงกับทางธนาคาร เพื่อให้หนี้กลับมาเป็นหนี้ปกติ ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับตัวของครูเอง
ผอ.ธนาคารออมสิน กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีที่ครูมีข้อสงสัยเรื่องการประกันชีวิต เมื่อครบอายุสัญญาการประกันชีวิต ตามโครงการเงินกู้ เป็นเวลา9ปีแล้ว ยังจ่ายเงินกู้ไม่หมด จะต้องทำประกันชีวิตต่อหรือไม่นั้น ตามข้อตกลงในสัญญาตั้งแต่ต้นหากครูเลือกใช้การประกันชีวิต ซึ่งไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ก็ต้องทำประกันชีวิตตลอดสัญญาการกู้ แต่เลขาธิการ สกสค.ขณะนั้นเสนอว่าให้ทำระยะ 9 ปีก่อน เมื่อครบสัญญาประกันชีวิต 9 ปี ก็ต้องสัญญาอีก 9 ปี ซึ่งเป็นสัญญาเดี่ยว โดยเบี้ยประกันจะคิดตามวงเงินกู้ที่เหลือ ซึ่งการประกันชีวิต เป็นประโยชน์กับครู เพราะไม่มีการตรวจสุขภาพ เมื่อครูเสียชีวิตประกันจะต้องจ่าย 100% เช่น ปีที่ผ่านมามีครูเสียชีวิต ประมาณ 2,500 คน เมื่อนำเงิน ชพค.มาชำระหนี้ยังมีหนี้เหลือ 700 ล้านบาท แต่มีเงินประกันชีวิตคุ้มครอง 2,100 ล้านบาท ทำให้ทายาทได้เงินคืน 1,400 ล้านบาท ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ที่ต้องทำความเข้าใจกับกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก สยามรัฐออนไลน์ 19 ตุลาคม 256
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
ธนาคารออมสิน บรรลุข้อตกลงร่วมกับ กระทรวงศึกษาธิการ ทำข้อตกลงใหม่ :
ที่มา เว็บไซต์ธนาคารออมสิน วันที่ 19 ตุลาคม 2560