ทปอ.มรภ.ตั้งทีมดูจุดอ่อน-จุดแข็งผลิตครู พร้อมถกปมเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายบุคลากรของมหาวิทยาลัย ย้ำใช้ไม่ทันต้องส่งคืนกระทรวงการคลัง
วันนี้(17ต.ค.)ผศ.ดร.นิวัต กลิ่นงาม อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ(มรภ.)สงขลา เปิดเผยว่า ในการประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศ (ทปอ.มรภ.) เมื่อเร็วๆนี้ ได้หารือเกี่ยวกับการผลิตครู โดยเฉพาะในประเด็นที่ยังมีข้อถกเถียงกันว่า การผลิตครู ควรจะเป็นหลักสูตรปริญาตรี 4ปี หรือหลักสูตรปริญาตรี 5ปี ดังนั้น ที่ประชุมจึงตั้งคณะทำงาน โดยมี รศ.มาลิณี จุโฑปะมา อธิการบดี มรภ.บุรีรัมย์ เป็นประธาน เพื่อศึกษาเนื้อหาของหลักสูตร กระบวนการผลิต ตลอดจนจุดอ่อน จุดแข็งการผลิตครูหลักสูตร 4ปี และ5 ปี ว่าเป็นอย่างไร และให้นำเสนอ ทปอ.มรภ.ในการประชุมครั้งต่อไป
ประธาน ทปอ.มรภ. กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้หารือเกี่ยวกับเงินอุดหนุนทั่วไปที่ใช้จ่ายบุคลากร ซึ่งยังไม่มีความชัดเจนและเกิดความสับสนในเแนวทางปฎิบัติ เนื่องจากคณะรัฐมนตรี(ครม.)มีมติเกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายบุคลากรของมหาวิทยาลัย ว่า หากใช้เงินไม่หมดในช่วงเวลาที่กำหนด มหาวิทยาลัยจะต้องนำเงินคงเหลือจากเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายบุคลากร พร้อมดอกผลที่เกิดขึ้นจากเงินดังกล่าวคืนกระทรวงการคลัง ขณะที่มหาวิทยาลัยหลายแห่งได้ออกระเบียบของมหาวิทยาลัย ว่าด้วยการเบิกจ่ายเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายบุคลากรสำหรับพนักงานมหาวิทยาลัย โดยให้เบิกจ่ายตามรายการ เช่น เงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เงินเพิ่มและสวัสดิการ ตลอดจนสิทธิประโยชน์อื่นของพนักงานมหาวิทยาลัย อาทิ นำมาใช้ในการรักษาพยาบาลบุคลากร เป็นต้น ดังนั้น จึงไม่สามารถรู้ล่วงหน้าได้ว่าบุคลากรแต่ละคนจะต้องใช้เงินในส่วนนี้เมื่อไหร่ และถ้าจะต้องส่งเงินส่วนนี้คืนกระทรวงการคลัง ก็จะเกิดผลกระทบได้
"เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ที่ประชุมจึงมอบให้ มรภ.สงขลา ตั้งคณะทำงาน ไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนในการปฎิบัติ นอกจากนี้ที่ประชุมยังให้ มรภ.ในแต่ละภูมิภาคไปหารือกับผู้ว่าราชการจังหวัด ในการทำงานเชิงบูรณาการ เพื่อพัฒนาท้องถิ่น ซึ่งอย่างน้อยควรจะกำหนดเป็นแผนดำเนินการระยะ 3 ปี เพื่อให้การทำงานต่อเนื่องและเกิดการขับเคลื่อนการดำเนินงานพัฒนาท้องถิ่นตามพระบรมราโชบายของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10” ประธาน ทปอ.มรภ.
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก เดลินิวส์ วันอังคารที่ 17 ตุลาคม 2560 เวลา 07.01 น.