สมเด็จพระเทพรัตนฯ ชื่นชมครูผู้อุทิศตนแก่ลูกศิษย์ ทรงย้ำการศึกษามีความหมายต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ครูต้องแสวงหาความรู้ใหม่ให้ทันโลก พระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ปี 2560 แก่สุดยอดครูผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงแก่ชีวิตศิษย์และมีคุณูปการต่อวงการศึกษา 11 ประเทศในอาเซียนและติมอร์- เลสเต
เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จเป็นประธานพิธีมอบรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี รางวัลพระราชทานระดับนานาชาติเพื่อเชิดชูเกียรติครูดีเด่นในอาเซียนและติมอร์-เลสเต 11 ประเทศ และเพื่อเทิดพระเกียรติเจ้าฟ้านักการศึกษา ผู้ทรงพระปรีชาและทรงมีคุณูปการต่อการศึกษาทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ดำเนินการโดยมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ร่วมกับคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) และหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชดำรัสความตอนหนึ่งว่า ครูที่ได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ทั้ง 11 ท่าน เป็นครูที่มีความมุ่งมั่นและทุ่มเท อุทิศตัวให้กับลูกศิษย์เพื่อให้มีโอกาสทางการศึกษาและเป็นแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ ซึ่งการศึกษามีความหมายต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาประเทศ ในฐานะที่ครูเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดการเรียนรู้ ทักษะและประสบการณ์การเรียนรู้จะช่วยให้นักเรียนประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง ครูจึงจำเป็นต้องปรับปรุงตัวเองอยู่เสมอและแสวงหาความรู้ใหม่ เพราะในปัจจุบันเราอยู่ในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วหากครูไม่ได้ถึงสิ่งที่เกิดขึ้นรอบ ๆ ตัว ครูก็ไม่สามารถติดตามการพัฒนาของนักเรียนได้ ครูที่มีคุณภาพต้องสร้างคนที่มีคุณภาพ ซึ่งต้องใช้เวลาในการส่งเสริมและปลูกฝังเยาวชนคนรุ่นใหม่ ในฐานะสมาชิกของชุมชนทั่วโลก
ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี กล่าวว่า ครูผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี มาจากการคัดเลือกของกระทรวงศึกษาธิการในอาเซียนและติมอร์-เลสเต ทั้ง 11 ประเทศ โดยมีคุณสมบัติเป็นครูผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงแก่ชีวิตของลูกศิษย์และมีคุณูปการต่อวงการศึกษา ประเทศละ 1 คน ซึ่งจะมีการคัดเลือกสุดยอดครู 2 ปีครั้ง โดยของพระราชทานรางวัล ประกอบด้วย เหรียญรางวัล ประกาศนียบัตร โล่ เข็มเชิดชูเกียรติทองคำ และเงินรางวัล รางวัลละ 10,000 เหรียญสหรัฐ โดยมีประวัติที่น่าสนใจของครูแต่ละประเทศดังนี้
1. เนการาบรูไนดารุสซาลาม มาดามลิม ซง โงว ครูสอนวิชาเคมี ระดับ A-level ที่ วิทยาลัยดูไลเพนกิรัน มูด้า อัล-มูตาดี บิลลา (Duli Pengiran Muda Al-Muhtadee Billah College) ครูผู้ดึงศักยภาพลูกศิษย์ทำให้ทุกคนมีตัวตนในชั้นเรียนและเปิดใจที่จะเรียนรู้จนมีคะแนนในระดับที่สูง และยังเป็นครูพี่เลี้ยงแก่ครูในระดับประเทศ ทำให้ได้รับรางวัลเกียรติยศจากสุลต่านแห่งบรูไนดารุสซาลาม
2. ราชอาณาจักรกัมพูชา นางดี โส พอน ครูสอนภาษาอังกฤษ โรงเรียนประถมคุมร็อกร่อง (Kumroukrong) ครูผู้สร้างบรรยากาศการสอนให้เป็น “ห้องเรียนแห่งความสุข” พร้อมกับดึงครอบครัว โรงเรียน และชุมชนมีส่วนร่วมในการเรียนรู้เพราะเชื่อว่าการศึกษาจะช่วยสร้างอนาคตของลูกศิษย์และประเทศ ผลสำเร็จจากเป็นครูมา 20 ปี จึงได้รับรางวัลสมเด็จเดโช ในปี 2560
3. สาธารณรัฐอินโดนีเซีย นายเอนชอน ระมัน ครูสอนวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และสังคมศึกษา โรงเรียนประถมศึกษาเมกาวังงี (Mekarwangi Public Elementary School) นับเป็นครูนักพัฒนาการศึกษาของอินโดนีเซีย ในฐานะผู้ฝึกอบรมโรงเรียนระดับมาตรฐานของประเทศ เป็นผู้เขียนตำราเรียนระดับประถมศึกษา จนเป็นแรงบันดาลใจแก่ครูในชวาตะวันตก และได้รับรางวัลครูผู้สอนดีเด่นในระดับชาติ
4. สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว นางคูนวิไล เคนกิติสัก ครูใหญ่โรงเรียนประถมศึกษาทองคัง (Thongkang school) กรุงเวียงจันทร์ นักบริหารจัดการโรงเรียนยอดเยี่ยม บริหารโรงเรียนขนาดเล็กอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการหลอมรวมการมีส่วนร่วมของครูและชุมชน ส่งผลการพัฒนานักเรียนอย่างมีคุณภาพ
5. ประเทศมาเลเซีย มาดามฮัจญะห์ ซารีปะ บินตี เอิมบง ครูสอนทักษะชีวิต คณิตศาสตร์ เทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ โรงเรียนมัธยมอิมเทียส ยายาซัน ทีแรงกานู (ImtiazYayasan Terengganu High School) นับเป็นครูผู้สร้างนักนวัตกรรมรุ่นใหม่ ด้วยการดึงความรู้ในห้องเรียนสู่การออกแบบนวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหาในชีวิตประจำวัน จนผลงานของลูกศิษย์ได้รับรางวัลทั้งในระดับชาติและนานาชาติ
6. สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา นายทัน ทุม ครูสอนภาษาอังกฤษและหลักสูตรร่วมระดับมัธยมโรงเรียน เมืองยัวดายี แคว้นซาเกรง ได้รับรางวัลการสอนดีเยี่ยมในการส่งเสริมเด็กระดับ 9 สอบผ่านภาษาอังกฤษทั้งระดับรัฐและภูมิภาคเป็นประจำทุกปี ด้วยวิธีการสอนที่ใช้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ควบคู่กับการปลูกฝังทักษะชีวิตและคุณธรรม
7. สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ดร. เฮซุส อินสิลาดา เจ้าหน้าที่ด้านการศึกษา โรงเรียนมัธยมแห่งชาติอัลคาเด กูสทีโล(Alcarde Gustilo Memorial National High School) ผู้สร้างการเรียนรู้แบบองค์รวมบนวิถีทางวัฒนธรรม และนักประพันธ์ภาษาถิ่น เพื่อปลุกความภูมิใจในความเป็นคนฟิลิปปินส์ท้องถิ่น
8. สาธารณรัฐสิงคโปร์ มาดามสะรับจิต คอร์ บุตรี ฮาร์ดิปซิงห์ ครูสอนวิทยาศาสตร์ โรงเรียนประถมแอนเดอสัน ผู้ปลดปล่อยศักยภาพเด็กหลังห้อง สู่การมีทัศนคติการเรียนรู้เชิงบวกความเป็นครูผู้อุทิศตน สนใจความต้องการของเด็กทั้งการเรียนและพฤติกรรม จึงเข้าถึงจิตใจเด็ก ผู้ปกครองและเพื่อนร่วมงาน และได้รับยกย่องในรางวัล Excellent Service Award ปี 2557
9. สาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์-เลสเต นางลีโอโปลดีนา โจอานา กูเตเรส ผู้อำนวยการโรงเรียนศูนย์กลางประถมศึกษาเซนโฮเซ (S.Jose Basic Education Central School) ซึ่งมีโรงเรียนสาขาอีก 7 แห่งนับเป็นครูนักบริหารจัดการทรัพยากรเป็นเลิศ โดยการเชื่อมประสานการสนับสนุนจากภายนอก ทำให้ความห่างไกล ไม่ใช่อุปสรรคของการพัฒนาโรงเรียน
10. สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม นางฟาน ถิ หนือ ครูสอนภาษาอังกฤษ และหัวหน้าหมวดประชาสัมพันธ์และความสัมพันธ์ต่างประเทศโรงเรียนมัธยมชั้นนำเลอกวิดง (Le Quy Don Gifted School) เมืองดานัง นับเป็นครูภาษาอังกฤษและนักเชื่อมความสัมพันธ์ต่างประเทศ ผู้สร้างโอกาสเปิดพรมแดนการเรียนรู้ของลูกศิษย์ในต่างแดน
11. ประเทศไทย นายจิรัฏฐ์ แจ่มสว่าง ครูเชี่ยวชาญ กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยนนทบุรี จ.นนทบุรี ครูผู้มีวิสัยทัศน์กว้างไกล บุกเบิกการสอนไอซีทีและนวัตกรรมหุ่นยนต์ในโรงเรียนมากว่า 32 ปี และเป็นผู้ให้โอกาสแก่เด็กกลุ่มเสี่ยงด้วยใจรัก จนลูกศิษย์ประสบความสำเร็จทั้งในเวทีระดับชาติและนานาชาติ
ขอบคุณเนื้อหาข่าวจาก pamornsri@thaihealth.or.th