ดร.วิชัย พยัคฆโส
payackso@gmail.com
เมื่อวันจันทร์สัปดาห์ที่แล้ว นายกรัฐมนตรีได้ชี้แนะให้กระทรวงศึกษาธิการนำไปทบทวนการพัฒนาการศึกษาหลายประเด็นในการกล่าวปิดการสัมนา “มิติการศึกษา พัฒนาพื้นที่พิเศษ เดินหน้าประเทศไทยมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ที่โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ ซิตี้ จอมเทียน พัทยา เป็นประเด็นที่ ศธ. พึงต้องกลับมาวิเคราะห์หลายประเด็น
แม้ว่านายกรัฐมนตรีจะมุ่งเน้นการบรรยายถึงการศึกษาให้แก่ความเหลื่อมล้ำของจังหวัดชายแดนภาคใต้และเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกก็ตาม แต่ได้กล่าวถึงปัญหาในวงกว้างของการผลิตกำลังคนของประเทศที่ยังไม่สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ โดยเฉพาะประเทศไทย4.0 ซึ่งมีตัวอย่างบางประเด็น ได้แก่
1. มหาวิทยาลัยผลิตกำลังคนออกมาแต่มีงานทำไม่ถึงร้อยละ 40
2. ผู้สำเร็จการศึการะดับ ป.โท ป.เอก ยังมีขึ้นบัญชีเป็นผู้มีรายได้น้อย
3. ผลิตกำลังคนให้กับ อีอีซี เป็นนวัตกรรมที่มีเทคโนโลยีสูง ต้องผลิตให้ตรงกับความต้องการ
4. ระยะเร่งด่วนต้องเอาผู้สำเร็จด้านอาชีวะศึกษามาอบรมระยะสั้นต่อยอดรองรับกับตลาดแรงงานก่อน
5. การพัฒนาประเทศต้องการคนออกไปพัฒนาท้องถิ่นที่แบ่งเป็น 6 ภาคไว้แล้ว
6. มหาวิทยาลัยยังเอาแต่เรื่องขัดแย้ง ฟ้องร้องคดีกันอยู่ซึ่งต้องมุ่งพัฒนาคนให้มาก
เอาเพียง 6 ประเด็นหลักๆ ที่กล่าวไว้ข้างต้น มีนัยสำคัญกับการวางแผนการพัฒนากำลังคนของประเทศที่ต้องดูยุทธศาสตร์และแผนความต้องการทั้งแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่12 และแผนการศึกษาแห่งชาติ 20 ปี มาเป็นแนวทางการผลิตและพัฒนากำลังคนกันใหม่ทั้งระบบตั้งแต่การศึกษาขั้นพื้นฐาน อาชีวะศึกษา และอุดมศึกษา
โดยเฉพาะอุดมศึกษาได้ถูกกำหนดทิศทางไว้แล้วว่ากลุ่มมหาวิทยาลัยใดมีจุดเน้นและเป้าหมายจะพัฒนาอะไร เพื่อใคร เช่น กลุ่มราชภัฎต้องเน้นการผลิตและพัฒนาครู และร่วมพัฒนาชุมชนและท้องถิ่น เป็นต้น
จริงอยู่ นายกรัฐมนตรีจะพูดถึงภาพกว้างระดับประเทศ แต่ถ้ามานั่งวิเคราะห์เจาะลึกแล้ว เท่ากับว่าระบบการศึกษาของไทยต้องปฏิรูปกันขนานใหญ่ ทั้งการสร้างคนที่ไม่ถูกทาง คุณภาพยังต้องพัฒนาให้ทันกับเทคโนโลยี ต้องสร้างนวัตกรรมจากงานวิจัย ซึ่งแต่ละปีมีมากกว่า 300,000 ผลงาน แต่เป็นงานวิจัยด้านวิชาการเสีย 40% และสามารถนำมาต่อยอดเชิงพาณิชย์ได้เพียงร้อยละ 5 เท่านั้น คงต้องไปดูยุทธศาสตร์การวิจัย-นวัตกรรม 20 ปี ที่มี KPI กำหนดไว้ชัดเจนอยู่แล้ว
อีกตัวเลขหนึ่งที่น่าจะสอดคล้องกับนายกรัฐมนตรีกล่าวถึง เรียนจบแล้วมีงานทำไม่ถึง 40% ยิ่งน่าตกใจเพราะตัวเลขเฉลี่ยจาก สกอ. ตั้งแต่ปี 2554-2558 มีนักศึกษาเข้าเรียนในระบบอุดมศึกษาประมาณ 2 ล้านคน แต่สำเร็จการศึกษาปีละประมาณ 2 แสนคน หรือ10-12%เท่านั้น ซึ่งความจริงน่าจะสำเร็จการศึกษาปีละ 25% จากการศึกษา 4 ปี ส่วนที่เหลือไปอยู่ไหน สอดคล้องกับตัวเลขผู้ว่างงานปี 2557-2560 มีแนวโน้มสูงขึ้นเฉพาะปีนี้มากกว่า 1.2% นับเป็นการศูนย์เปล่าทางการศึกษาหรือไม่ น่าจะวิเคราะห์ข้อมูลเหล่านั้นเพื่อทบทวนการผลิตกำลังคนกันใหม่
แต่ที่เป็นปัญหาและกระทบกับความเป็นธรรมาภิบาลของมหาวิทยาลัย นั่นคือการฟ้องร้องช่วงชิงการเป็นอธิการบดีและผู้บริหารที่มีการฟ้องร้องในศาลปกครอง ในกรณีผู้มีอายุเกิน 60 ปี เป็นผู้บริหารได้หรือไม่ ทำให้เอกภาพในการพัฒนามหาวิทยาลัยไม่เกิด มีแต่การช่วงชิงอำนาจกันอยู่ในขณะนี้ แล้วจะมีเวลาทบทวนภารกิจ เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์และกลยุทธ์ในการพัฒนากำลังคนกันได้ย่างไร
แม้ว่ากระทรวงอุดมศึกษาจะเกิดขึ้นในเร็ววันนี้ แต่คงไม่สามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งในอำนาจหน้าที่ของผู้บรืหารในมหาวิทยาลัยได้ แล้วการศึกษาของชาติจะยกระดับให้เป็นอุดมศึกษา 4.0 ตามที่คิดไว้จะได้หรือ?
ขอบคุณที่มาเนื้อหาจาก สยามรัฐออนไลน์ วันที่ 3 ตุลาคม 2560